แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลตามสิทธิแล้ว แต่โรงพยาบาลดังกล่าวไม่สามารถให้บริการหรือเยียวยารักษาเพื่อให้โจทก์รอดชีวิตได้ จึงเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องกระทำเพื่อรักษาชีวิตโจทก์ โดยนำโจทก์ไปรับการรักษาพยาบาลทางสมองที่โรงพยาบาล พ. ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนเนื่องจากมีศัลยแพทย์ทางสมองประจำอยู่ ต้องถือว่าโจทก์มีเหตุผลสมควรที่ไม่สามารถรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิได้ และต้องไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลอื่นตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับคืนเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายไปเป็นค่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองที่โรงพยาบาล ร. ซึ่งโรงพยาบาล พ. ส่งโจทก์ไปตรวจกับเงินค่าผ่าตัดสมองที่โรงพยาบาล พ. โดยเงินทั้งสองจำนวนเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามความจำเป็นภายใน 72 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ประกันตนเข้ารับบริการทางการแพทย์ครั้งแรก ตามประกาศสำนักงานประกันสังคม เรื่อง กำหนดจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ (ฉบับที่ 2)
คำฟ้องโจทก์ไม่ได้มีคำขอดอกเบี้ยในเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์มาด้วย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในต้นเงินจำนวนดังกล่าวโดยไม่ให้เหตุผลว่าเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความอย่างไร จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานประกันสังคมจังหวัดตากและคำวินิจฉัยคณะกรรมการอุทธรณ์ของจำเลยให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ตามที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามกฎหมายเป็นเงิน 231,268 บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้แก้ไขคำสั่งสำนักงานประกันสังคมจังหวัดตาก เลขที่ 01/339/43 และคำวินิจฉัยคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1136/2543 เฉพาะส่วนที่ปฏิเสธการจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์แก่โจทก์ ให้จำเลยจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์เป็นเงิน 231,268 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2544) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า การที่โจทก์เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลพิษณุเวช ถือว่าโจทก์สละสิทธิหรือไม่ประสงค์จะใช้สิทธิประกันสังคมหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลพิษณุเวชซึ่งเป็นโรงพยาบาลเอกชนเนื่องจากโรงพยาบาลดังกล่าวมีศัลยแพทย์ทางสมองประจำอยู่และได้ความจากคำเบิกความของนายแพทย์สุดชาย ปัญยารชุน พยานจำเลยว่า หากโจทก์ไม่ได้รับการรักษาอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต และการผ่าตัดสมองมีความจำเป็นเพื่อรักษาชีวิตโจทก์ อีกทั้งในเบื้องต้นโจทก์ก็เข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชซึ่งเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิ แต่โจทก์มีอาการหนักมากจึงถูกส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลพุทธชินราชซึ่งเป็นโรงพยาบาลเครือข่ายระดับบน และโจทก์อยู่ที่โรงพยาบาลดังกล่าวกว่า 16 ชั่วโมง ก็มิได้รับการบำบัดรักษาอาการเลือดคั่งในสมองจนอาการทรุดลงเรื่อย ๆ จนตกอยู่ในภยันตรายแก่ชีวิต ญาติโจทก์จึงตัดสินใจย้ายโจทก์ไปรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลพิษณุเวชซึ่งแพทย์ได้ทำการผ่าตัดสมองทันที โจทก์จึงมีชีวิตรอดมาได้ กรณีจึงเป็นเรื่องโจทก์เข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลตามสิทธิแล้ว แต่โรงพยาบาลดังกล่าวไม่สามารถให้บริการหรือเยียวยารักษาเพื่อให้โจทก์รอดชีวิตได้ จึงเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกระทำเพื่อรักษาชีวิตโจทก์โดยนำโจทก์ไปรับการรักษาพยาบาลทางสมองที่โรงพยาบาลพิษณุเวช ซึ่งต้องถือว่าโจทก์มีเหตุผลสมควรที่ไม่สามารถรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิได้ และต้องไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลอื่นตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 59 กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่า โจทก์สละสิทธิหรือไม่ประสงค์จะใช้สิทธิประกันสังคมดังจำเลยอ้าง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ของเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางหรือไม่ เห็นว่า คำฟ้องโจทก์ไม่ได้มีคำขอดอกเบี้ยในต้นเงินจำนวนนี้มาด้วย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยต้องชำระดอกเบี้ยในต้นเงินจำนวนดังกล่าวโดยไม่ให้เหตุผลว่าเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความอย่างไร จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 อุทธรณ์จำเลยส่วนนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.