แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีกัญชาน้ำหนัก 576.200 กิโลกรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยโจทก์อ้างบทลงโทษตามมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตราดังกล่าวได้อ้างถึงมาตรา 26 ซึ่งเป็นบทห้ามและข้อสันนิษฐานเด็ดขาดเกี่ยวกับการมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไว้ด้วย เพียงแต่โจทก์มิได้ระบุมาตรา 26 มาในคำขอท้ายฟ้องส่วนมาตรา 25 ที่โจทก์ระบุมานั้นไม่ใช่บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างบทมาตราผิดศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 ร่วมกันมีกัญชาอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จำนวน 290 แท่ง น้ำหนัก 576.200กิโลกรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายและร่วมกันจำหน่ายกัญชาจำนวนดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3และนายตนุ ตั้งแก้วขจี กับพวกอีก 1 คน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องในราคา979,200 บาท โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกดังกล่าวชำระเงินค่ากัญชาล่วงหน้าให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7 เป็นเงิน 300,000 บาทอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกรวม2 คน ข้างต้นร่วมกันมีกัญชา จำนวน 290 แท่ง น้ำหนัก 576.200กิโลกรัม ดังกล่าวข้างต้นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 25, 75, 36, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และริบยาเสพติดให้โทษของกลาง รถยนต์กระบะของกลางทั้ง 3 คัน โจทก์จะยื่นคำร้องขอริบให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30, 31 ต่อไป
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ 4 ที่ 6และที่ 7 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่ส่วนจำเลยที่ 5 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแยกต่างหาก
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26, 76 วรรคสอง(ที่ถูกพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่งและวรรคสอง, 76 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83)จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 14 ปี จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3คนละ 7 ปี คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8,25, 76 และ 102 โดยไม่ระบุมาตรา 26 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับโทษโดยอ้างมาตรา 26 เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ศาลไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ต้องพิพากษายกฟ้องหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ร่วมกันมีกัญชาจำนวน 290 แท่ง น้ำหนัก 576.200 กิโลกรัมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายโดยโจทก์อ้างบทลงโทษตามมาตรา 76 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาในคำขอท้ายฟ้องมาตราดังกล่าวได้กล่าวอ้างถึงมาตรา 26 ซึ่งเป็นบทห้ามและข้อสันนิษฐานเด็ดขาดเกี่ยวกับการมียาเสพติดให้โทษในประเภท 5ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไว้ด้วย เพียงแต่โจทก์มิได้ระบุมาตรา 26มาในคำขอท้ายฟ้อง ส่วนมาตรา 25 ที่โจทก์ระบุมานั้นไม่ใช่บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามที่โจทก์ฟ้องจึงเป็นที่เห็นได้ว่า การที่โจทก์ระบุมาตรา 25 มาในคำขอท้ายฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างบทมาตราผิด เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคห้า ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือเป็นเหตุให้ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์ดังที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาแต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน