คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ก่อสร้างตึกเต็มเนื้อที่ดินของโจทก์ แล้วทำทางเท้าและคันหินบนทางเท้าล้ำเข้าไปในที่ดินของจำเลยซึ่งอยู่ติดกัน โดยจำเลยตกลงยินยอมถือว่าเป็นการได้มาซึ่งสิทธิเหนือพื้นดิน อันเป็นทรัพยสิทธิ เมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ย่อมไม่บริบูรณ์ ครั้นต่อมาจำเลยบอกกล่าวไม่ยินยอมให้มีทางเท้าและคันหินล้ำบนที่ดินของจำเลยอีกต่อไป โจทก์ก็ไม่มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินของจำเลยได้แต่ทางเท้าและคันหินนั้นไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินจำเลย
เมื่อจำเลยบอกกล่าวให้โจทก์รื้อถอนทางเท้าและคันหินออกไปจากที่ดินของจำเลย โจทก์ไม่ยอมรื้อถอน ก็ชอบที่จำเลยจะใช้สิทธิทางศาลไม่มีอำนาจเข้ารื้อถอนโดยพลการ เพราะไม่เข้าเกณฑ์แห่งบทบัญญัติว่าด้วยนิรโทษกรรม หากจัดการรื้อถอนเสียเอง ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ซึ่งจะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 2 ปลูกตึก และจำเลยที่ 2 ตกลงให้โจทก์มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินของจำเลยที่ 2 ซึ่งอยู่ข้างเคียงได้ โจทก์ได้ทำทางเท้ากว้าง 90 เซ็นติเมตร และทำคันหินบนขอบทางเท้ากว้าง 40 เซ็นติเมตร ยาวตลอดแนว สิ้นค่าก่อสร้าง 5,000 บาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนดูแลที่ดินของจำเลยที่ 2 ได้ให้คนงานรื้อทำลายคันหินของโจทก์โดยพลการซึ่งจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชอบ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันทำคันหินให้คืนสภาพเดิม ถ้าไม่ทำให้ใช้ค่าเสียหาย 3,000 บาท

จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลเรียกห้างหุ้นส่วนจำกัดเฉลิมเกียรติบริการก่อสร้างเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาตให้เรียกเข้ามาเป็นจำเลยที่ 3

จำเลยทั้งสามต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 แต่เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้เช่าที่ดินและตลาดของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่เคยยินยอมให้โจทก์มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินของจำเลยที่ 2 โจทก์บุกรุกเข้ามาสร้างทางเท้าและคันหินโดยพลการ จำเลยที่ 1 – 3 บอกให้โจทก์รื้อ ก็ไม่ยอมรื้อ ผู้จัดการของจำเลยที่ 2 จึงให้จำเลยที่ 1 รื้อ และตัดฟ้องว่า ทางเท้าและคันหินตกเป็นส่วนควบของที่ดินจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในมูลละเมิดและฟ้องเคลือบคลุม

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1, 3 ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 1,200 บาท

โจทก์ จำเลยที่ 1, 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ก่อสร้างตึกสถานพยาบาลเต็มเนื้อที่ดินของโจทก์แล้วทำทางเท้าและคันหินบนทางเท้าสำหรับปลูกต้นไม้ล้ำเข้าไปในทางเดินอันเป็นที่ดินของจำเลยที่ 2 ด้านที่ติดกับตึกของโจทก์กว้าง 90 เซ็นติเมตร ยาวตลอดตัวตึก โดยจำเลยที่ 2 ยินยอมให้โจทก์ก่อสร้างได้ และวินิจฉัยต่อไปว่า แต่การตกลงยินยอมนี้ถือว่าเป็นการได้มาซึ่งสิทธิเหนือพื้นดินอันเป็นทรัพยสิทธิเมื่อมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่บริบูรณ์ ครั้นต่อมาเมื่อจำเลยที่ 2 บอกกล่าวไม่ยินยอมให้มีทางเท้าและคันหินล้ำบนที่ดินของจำเลยที่ 2 อีกต่อไป โจทก์ก็ไม่มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดินของจำเลยที่ 2 ได้

ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ทางเท้าและคันหินเป็นส่วนควบของที่ดินจำเลยที่ 2 ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ไปทำลายคันหินและทางโดยความยินยอมของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นละเมิดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าทางเท้าและคันหินที่โจทก์ทำขึ้นนั้นหาใช่เป็นส่วนควบของที่ดินจำเลยที่ 2 อันจะพึงถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของในทางเท้าและคันหินนั้นไม่ เมื่อโจทก์ก่อสร้างทางเท้าและคันหินในที่ของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 บอกให้โจทก์รื้อถอน โจทก์ขัดขืนไม่ยอมรื้อถอนในกรณีเช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 2 ชอบที่จะใช้สิทธิทางศาลไม่มีอำนาจที่จะทำการรื้อถอนได้โดยพลการเพราะพฤติการณ์แห่งกรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์แห่งบทบัญญัติว่าด้วยนิรโทษกรรม การที่จำเลยที่ 1โดยความยินยอมของจำเลยที่ 2 ไปทำลายคันหินและทางเท้าเสียเองจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดด้วย

สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์สืบว่า ถ้าจะทำให้ดีดังเดิมต้องใช้เงินราว 2,500 บาทนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จะถือเอาเงินจำนวนนี้เป็นหลักสำหรับค่าเสียหายในคดีนี้ไม่ได้ เพราะโจทก์จะทำคันหินและทางเท้าในที่ของจำเลยที่ 2 ต่อไปไม่ได้แล้ว สมควรคิดค่าเสียหายให้ตามควรแก่พฤติการณ์เท่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นเงิน 1,200 บาท

พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ 200 บาท

Share