คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1159/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2541 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบรวม 3 รายการ จำนวน 40,499,000 บาท ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 3,681,727.27 บาท ตลอดจนภาษีอากรอื่นๆ และค่าใช้จ่ายทั้งปวงด้วยแล้วโดยถือราคาเหมารวมเป็นเกณฑ์ กำหนดการจ่ายเงินเป็นงวดๆ ซึ่งขณะนั้นกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 353) พ.ศ.2542 ปรับปรุงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิมซึ่งจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ลดลงเป็นอัตราร้อยละ 7 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 เป็นต้นไป โจทก์ทำงานแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้จำเลยเป็นงวดๆ จำเลยได้รับมอบงานและชำระค่าจ้างให้โจทก์ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลบังคับใช้จนกระทั่งรับมอบงานเรียบร้อยโดยคำนวณหักภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 และจำเลยไม่ได้ชำระค่าส่วนต่างของภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน ร้อยละ 3 เป็นเงิน 366,838.65 บาท ให้แก่โจทก์ เมื่อปรากฏว่า สัญญาว่าจ้างที่โจทก์และจำเลยตกลงกันมีข้อความว่า “ค่าจ้างและการจ่ายเงิน (สำหรับสัญญาที่เป็นราคาเหมารวม) ผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายและผู้รับจ้างตกลงรับเงินค่าจ้างจำนวน 40,499,000 บาท (สี่สิบล้านสี่แสนเก้าหมื่นเก้าพันบาทถ้วน) ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 3,681,727.27 บาท (สามล้านหกแสนแปดหมื่นหนึ่งพันเจ็ดร้อยยี่สิบเจ็ดบาทยี่สิบเจ็ดสตางค์) ตลอดจนภาษีอากรอื่นๆ และค่าใช้จ่ายทั้งปวงด้วยแล้ว โดยถือราคาเหมารวมเป็นเกณฑ์และกำหนดการจ่ายเงินเป็นงวดๆ ดังนี้…ฯลฯ…เห็นได้ชัดว่าโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาได้ตกลงให้การจ้างครั้งนี้เป็นสัญญาที่เป็นราคาเหมารวมซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในขณะนั้นจำนวน 3,681,727.27 บาท ตลอดจนภาษีอากรอื่นๆ และค่าใช้จ่ายทั้งปวงด้วยแล้ว หาได้มีข้อความให้แยกคิดคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต่างหากจากจำนวนเงินค่ารับเหมาทั้งหมดไม่ การที่สัญญามีข้อความระบุค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 3,681,727.27 บาท ไว้ด้วยเป็นเพียงกำหนดรายละเอียดไว้เท่านั้น หามีผลทำให้สัญญาจ้างเหมาราคารวมดังกล่าวกลับกลายเป็นสัญญาที่แยกความรับผิดเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปต่างหากไม่ นอกจากนั้นข้อความในข้อ 4 ยังได้กำหนดให้ถือราคาเหมารวมเป็นเกณฑ์และกำหนดการจ่ายเงินเป็นงวดๆ อีกด้วย อันเป็นการแสดงชี้ให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าคู่สัญญามีเจตนาที่จะทำสัญญาให้เป็นสัญญาจ้างเหมารวมภาษีมูลค่าเพิ่มตลอดจนภาษีอากรอื่นๆ และค่าใช้จ่ายทั้งปวงด้วย หากโจทก์และจำเลยมีเจตนาที่จะแยกภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากราคาเหมารวมก็ชอบที่จะระบุไว้ในสัญญาให้ชัดแจ้งว่าไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย จำเลยจึงต้องชำระเงินส่วนต่างของภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 366,838.65 บาท แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 366,834.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2541 จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบรวม 3 รายการ จำนวนเงิน 40,499,000 บาท ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 3,681,727.27 บาท ตลอดจนภาษีอากรอื่น ๆ และค่าใช้จ่ายทั้งปวงด้วยแล้วโดยถือราคาเหมารวมเป็นเกณฑ์ กำหนดการจ่ายเงินเป็นงวด ๆ ซึ่งขณะนั้นกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 353) พ.ศ.2542 ปรับปรุงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิมซึ่งจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ลดลงเป็นอัตราร้อยละ 7 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 เป็นต้นไป โจทก์ได้ทำงานแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้จำเลยเป็นงวด ๆ จำเลยได้รับมอบงานและชำระค่าจ้างให้โจทก์ตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลบังคับใช้จนกระทั่งรับมอบงานเรียบร้อยโดยคำนวณหักภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 และจำเลยไม่ได้ชำระส่วนต่างของภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวนร้อยละ 3 เป็นเงิน 366,834.65 บาท ให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเงินส่วนต่างของภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 3 คิดเป็นเงิน 366,834.65 บาท ตามฟ้องจากจำเลยหรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์ฎีกาอ้างว่า โจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารเรียนและอาคารประกอบในราคาเหมารวมเป็นเงิน 40,499,000 บาท เมื่อโจทก์ก่อสร้างอาคารดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยและส่งมอบให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงต้องชำระเงินค่าจ้างให้แก่โจทก์เต็มจำนวน 40,499,000 บาท ตามสัญญา แม้ภายหลังจากทำสัญญาดังกล่าวแล้วจะมีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 353) พ.ศ.2542 ปรับปรุงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิมซึ่งจัดเก็บอัตราร้อยละ 10 ลดลงเป็นอัตราร้อยละ 7 ก็ตาม จำเลยไม่อาจยกเหตุที่มีการลดภาษีมูลค่าเพิ่มลงดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างปฏิเสธไม่ยอมชำระเงินส่วนต่างของภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 3 ซึ่งคิดเป็นเงินจำนวน 366,834.65 บาท ให้แก่โจทก์ เห็นว่า สัญญาจ้างเลขที่ 19/2541 ข้อ 4 ซึ่งโจทก์และจำเลยตกลงกันมีข้อความว่า “ค่าจ้างและการจ่ายเงิน (สำหรับสัญญาที่เป็นราคาเหมารวม) ผู้ว่าจ้างตกลงจ่ายและผู้รับจ้างตกลงรับเงินค่าจ้างจำนวน 40,499,000 บาท (สี่สิบล้านสี่แสนเก้าหมื่นเก้าพันบาทถ้วน) ซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 3,681,727.27 บาท (สามล้านหกแสนแปดหมื่นหนึ่งพันเจ็ดร้อยยี่สิบเจ็ดบาทยี่สิบเจ็ดสตางค์) ตลอดจนภาษีอากรอื่น ๆ และค่าใช้จ่ายทั้งปวงด้วยแล้ว โดยถือราคาเหมารวมเป็นเกณฑ์และกำหนดการจ่ายเงินเป็นงวด ๆ ดังนี้…ฯลฯ…จากข้อความดังกล่าวจะเห็นได้ชัดว่าโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาได้ตกลงให้การจ้างครั้งนี้เป็นสัญญาที่เป็นราคาเหมารวมซึ่งได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มในขณะนั้นจำนวน 3,681,727.27 บาท ตลอดจนภาษีอากรอื่น ๆ และค่าใช้จ่ายทั้งปวงด้วยแล้ว หาได้มีข้อความให้แยกคิดคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มต่างหากจากจำนวนเงินค่ารับเหมาทั้งหมดไม่ การที่สัญญามีข้อความระบุค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 3,681,727.27 บาท ไว้ด้วยเป็นเพียงกำหนดรายละเอียดไว้เท่านั้น หามีผลทำให้สัญญาจ้างเหมาราคารวมดังกล่าวกลับกลายเป็นสัญญาที่แยกความรับผิดเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มออกไปต่างหากดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ นอกจากนั้นข้อความในข้อ 4 ยังได้กำหนดให้ถือราคาเหมารวมเป็นเกณฑ์และกำหนดการจ่ายเงินเป็นงวด ๆ อีกด้วย อันเป็นการแสดงชี้ให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าคู่สัญญามีเจตนาที่จะทำสัญญานี้ให้เป็นสัญญาจ้างเหมารวมภาษีมูลค่าเพิ่มตลอดจนภาษีอากรอื่น ๆ และค่าใช้จ่ายทั้งปวงด้วย หากโจทก์และจำเลยมีเจตนาที่จะแยกภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากราคาเหมารวมก็ชอบที่จะระบุไว้ในสัญญาให้ชัดแจ้งว่าไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 366,834.65 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 25 มกราคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท.

Share