แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งพิจารณาคดีได้อนุญาตให้จำเลยฎีกาในคดีอาญาโดยใช้คำว่า เป็นคดีมีพฤติการณืซับซ้อนหลายประการอันเป็นปัญหาสำคัญควรขึ้นไปสู่ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดอีกชั้นหนึ่ง จึงอนุญาตให้ฎีกาดังนี้ แม้จะไม่ได้ใช้ถ้อยคำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 แต่ก็เข้าใจได้ว่าผู้อนุญาตให้ฎีกาเห็นว่า ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลฎีกาวินิจฉัย จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 แล้ว
ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 30/2504
ย่อยาว
คดีที่ ๒ สำนวนนี้ศาลชั้นต้นรวมพิจารณา โดยสำนวนแรกโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษนายมงคลกับพวก ฐานยักยอกและแจ้งความเท็จ สำนวนหลังนายชู นายมงคล กับพวกฟ้องจำเลยขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์
ศาลชั้นต้นเชื่อว่านายมงคงจำเลยยักยอกเงินของธนาคารแล้วไปแจ้งเท็จว่ามีผู้ลักทรัพย์ พิพากษาว่า นายมงคลจำเลยผิดกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๓๑๙ (๓) และมาตรา ๑๑๘ ให้รวมกระทงจำคุก ๓ ปี และคืนหรือใช้ราคาทรัพย์
ธนาคารโจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ลงโทษหนักขึ้น
นายมงคลอุทธรณ์ทั้ง ๒ สำนวน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะบทลงโทษนายมงคลจำเลยเป็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๔ นอกนั้นยืน
นายมงคลฎีกาทั้ง ๒ สำนวน โดยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งพิจารณาคดีนี้ ๑ นาย อนุญาตให้ฎีกาโดยใช้คำว่า “พิเคราะห์เห็นว่าคดีนี้เป็นคดีที่มีพฤติการณ์ซับซ้อนอยู่หลายประการอันเป็นปัญหาสำคัญ ควรขึ้นไปสู่ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลสูงสุดได้วินิจฉัยชี้ขาดอีกชั้นหนึ่ง จึงอนุญาตให้จำเลยฎีกาได้”
ธนาคารโจทก์ร่วมคัดค้านว่า คำอนุญาตดังกล่าไม่ได้อนุญาตเพราะข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญ จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๑
ศาลฎีกาได้ประชุมใหญ่ในปัญหานี้แล้วเห็นว่า ถึงแม้คำอนุญาตให้ฎีกาจะไม่ได้ใช้ถ้อยคำตามมาตรา ๒๒๑ แต่ก็เข้าใจได้ว่าผู้รับรองได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลฎีกา จึงได้อนุญาตให้ฎีกา เป็นการชอบด้วยมาตรา ๒๒๑ แล้ว
ส่วนข้อเท็จจริง ไม่เชื่อว่านายมงคลจำเลยยักยอกเงินและไม่พอฟังว่าจำเลยอื่นในสำนวนที่ ๒ ลักทรัพย์
จึงพิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนแรก และยกคำขอที่ให้นายมงคลใช้ทรัพย์ นอกนั้นยืน