คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 919/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยไปแจ้งความต่อตำรวจว่ารถจักยานถูกขโมยไป ไม่รู้ว่าใครเป็นคนร้าย ต่อมาจำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนว่า โจทก์เป็นคนร้าย โดยตนเห็นและได้ไล่ติดตามโจทก์ในคืนเกิดเหตุด้วย เช่นนี้ จำเลยย่อมมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองบังอาจเอาข้อความซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานว่าโจทก์เป็นคนร้ายลักรถจักรยานของจำเลยที่ ๑ ไป ขอให้ลงโทษ
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๗๒ ให้จำคุกไว้คนละ ๑๕ วัน
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามเบ็ดเสร็จรายวันของสถานีตำรวจภูธรเมืองลำพูนว่าจำเลยที่ ๑ ไปแจ้งความว่า ตื่นขึ้นเวลา ๕ น. ลงไปดูรถจักรยานไม่เห็น ไม่ทราบว่าใครเป็นคนร้ายลักไป จ่านายสิบตำรวจบุญมี ซึ่งทำหน้าที่นายร้อยเวรผู้รับแจ้งความจากจำเลยที่ ๑ เป็นพยานให้การว่า จำเลยที่ ๑ ว่าไม่รู้ว่าใครเป็นคนร้าย พยานได้ถามว่าสงสัยใครไหม จำเลยที่ ๑ ก็ว่า ไม่รู้ ดังนี้ หากจำเลยที่ ๑ ได้ฉายไฟเห็นโจทก์เป็นคนลักรถจักรยานของจำเลยที่ ๑ ไปจริงดังที่ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวน ต่อมาจำเลยที่ ๑ ก็น่าจะได้ระบุชื่อโจทก์ว่าเป็นคนร้ายต่อเจ้าพนักงานในวันที่ไปแจ้งความนั้นแล้ว ไม่ปรากฎว่ามีความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องปิดชื่อคนร้ายไว้ อีกข้อหนึ่ง จำเลยแจ้งความว่า ตื่นขึ้นเวลา ๕ น. เห็นรถหายไป แต่ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าคนร้ายมาลักรถไปเวลาราวเที่ยงคืน ตามข้อเท็จจริงและเหตุผลดังกล่าวมานี้เชื่อว่าจำเลยทั้งสองคนมิได้รู้ว่าใครเป็นคนร้ายลักรถจักรยานของจำเลยที่ ๑ ไป เพราะตื่นขึ้นก็เห็นรถหายไปเสียแล้ว จึงได้ไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่ารถจักรยานถูกคนร้ายลักไป ไม่รู้ว่าใครเป็นคนร้าย ฉะนั้นที่จำเลยทั้งสองให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าเห็นโจทก์เป็นคนร้ายลักรถจักรยานของจำเลยไปจึงเป็นการแจ้งความเท็จ ต้องมีความผิด
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีลงโทษจำเลยไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share