แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น การที่จำเลยให้การในตอนต้นว่า จำเลยไม่เคยรับขนส่งสินค้าที่พิพาท และชื่อผู้ขนส่งตามที่ระบุไว้ในใบรับขนของทางอากาศก็ไม่ใช่ชื่อของจำเลย ส่วนตอนท้ายจำเลยให้การว่า หากศาลฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าแล้ว จำเลยสามารถจำกัดความรับผิดได้ไม่เกิน 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม คำให้การดังกล่าวเมื่ออ่านโดยรวมแล้วสามารถเข้าใจได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์ และยังให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่จำต้องรับผิดตามจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมา คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหลายทางไม่ชัดแจ้งว่าข้อเท็จจริงที่ให้การนั้นเป็นไปในทางหนึ่งทางใด อันจะถือเป็นคำให้การที่ขัดกันดังที่โจทก์อุทธรณ์ คำให้การของจำเลยชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสองแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 133,630.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 126,514.08 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 136 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยจะชำระเป็นเงินไทย ให้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเงิน ณ สถานที่และเวลาใช้เงิน ทั้งนี้ดอกเบี้ยเมื่อคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 ธันวาคม 2550) ต้องไม่เกิน 7,116.42 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า บริษัทเม็กเท็ค แมนูแฟคเจอริ่ง คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด สั่งซื้อสินค้าตัวเชื่อมสัญญาณไฟฟ้า และแผงวงจรไฟฟ้า จำนวน 36 กล่อง ราคา 22,840 ดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัทอินเท็ค แมนูแฟคเจอริ่ง (เอเชีย) พีทีอี จำกัด ผู้ขาย โดยผู้ขายว่าจ้างบริษัทโปร-โลจิสติกส์ (เอส) พีทีอี จำกัด ให้ขนส่งสินค้าดังกล่าวโดยเครื่องบินจากประเทศสิงคโปร์มาส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อที่กรุงเทพมหานคร ตามใบรับขนของทางอากาศ โจทก์รับประกันภัยสินค้ารายนี้จากผู้ซื้อในวงเงิน 25,124 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาบริษัทโปร-โลจิสติกส์ (เอส) พีทีอี จำกัด ว่าจ้างจำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวแทน ตามใบรับขนของทางอากาศ ครั้นวันที่ 19 ธันวาคม 2549 เครื่องบินที่จำเลยใช้ขนส่งสินค้ามาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและได้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว ต่อมาผู้ซื้อตรวจพบว่าสินค้าตัวเชื่อมสัญญาณไฟฟ้าเปียกน้ำได้รับความเสียหาย 2 กล่อง น้ำหนัก 6.84 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 3,586 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 126,514.08 บาท โดยความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลย โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวให้แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 และรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลย คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องค่าเสียหายและให้จำเลยนำพยานเข้าสืบในประเด็นนี้ชอบด้วยกฎหมายเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น การที่จำเลยให้การในตอนต้นว่า จำเลยไม่เคยรับขนส่งสินค้าที่พิพาท และชื่อผู้ขนส่งตามที่ระบุไว้ในใบรับขนของทางอากาศก็ไม่ใช่ชื่อของจำเลย ส่วนตอนท้ายจำเลยให้การว่า หากศาลฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าแล้ว จำเลยสามารถจำกัดความรับผิดได้ไม่เกิน 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม คำให้การดังกล่าวเมื่ออ่านโดยรวมแล้วสามารถเข้าใจได้ว่าจำเลยให้การปฏิเสธฟ้องของโจทก์ และยังให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่จำต้องรับผิดตามจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมา คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงหลายทางไม่ชัดแจ้งว่าข้อเท็จจริงที่ให้การนั้นเป็นไปในทางหนึ่งทางใด อันจะถือเป็นคำให้การที่ขัดกันดังที่โจทก์อุทธรณ์ คำให้การของจำเลยชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ และวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองแล้ว คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทเรื่องค่าเสียหายและจำเลยก็มีสิทธินำพยานเข้าสืบแก้ในประเด็นข้อนี้ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทเรื่องค่าเสียหายและมีคำวินิจฉัยในเรื่องนี้โดยรับฟังพยานหลักฐานของจำเลยด้วยนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ