แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.วิ.พ. มาตรา 290 กำหนดให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายอื่นมีอำนาจยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นได้ ซึ่งตามมาตรา 302 วรรคหนึ่ง ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีคือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นในคดีนี้คือศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อมาตรา 290 วรรคหนึ่ง มิได้กำหนดระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ไว้ และวรรคห้าเป็นบทบัญญัติเชื่อมโยงมาจากวรรคหนึ่ง จึงไม่จำต้องระบุศาลที่จะรับคำร้องไว้ในวรรคห้าซ้ำอีกเพราะเป็นที่เข้าใจได้ว่าหมายถึงศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดทุ่งสงซึ่งบังคับคดีแทนศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชได้รับเงินที่อายัดจากลูกหนี้ของจำเลยเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2541 แล้วส่งเงินดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดนครศรีธรรมราชวันที่ 18 มกราคม 2542 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชวันที่ 29 มกราคม 2542 จึงอยู่ภายในกำหนดระยะเวลา 14 วัน ตามกฎหมาย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์จำนวน 381,515 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีอายัดเงินที่จำเลยทั้งสองจะได้รับจากโรงเรียนกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแขวงนครศรีธรรมราช ซึ่งพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 36,500 บาทให้แก่ผู้ร้อง แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องได้ยื่นคำขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดี และแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี จำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินอื่นใดนอกจากเงินที่โจทก์ขออายัดไว้ ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยเงินดังกล่าว
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า โรงเรียนกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ส่งเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดทุ่งสงเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2541 ดังนั้น ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเงินภายใน 14 วัน นับแต่วันดังกล่าว แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2542 ซึ่งสิ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ร้อง ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องไว้พิจารณา
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ป.วิ.พ. มาตรา 290 บัญญัติว่า “เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นซ้ำอีก แต่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเช่นว่านี้มีอำนาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ตนเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญ 2 ประการ ประการแรกเมื่อได้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นซ้ำอีก กับให้เจ้าหนี้รายอื่นดังกล่าวมามีอำนาจยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นอีกประการหนึ่ง ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 302 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีคือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น สำหรับคดีนี้จึงได้แก่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากมาตรา 290 วรรคหนึ่ง มิได้กำหนดระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ไว้ จึงได้บัญญัติในวรรคห้าของมาตราเดียวกันว่า “ในกรณีอายัดทรัพย์สิน ให้ยื่นคำขอเสียก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้” เมื่อวรรคห้านี้เป็นบทบัญญัติเชื่อมโยงมาจากวรรคหนึ่ง จึงไม่จำต้องระบุศาลที่จะรับคำร้องไว้ในวรรคห้าซ้ำอีก เพราะเป็นที่เข้าใจได้ว่าหมายถึงศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดทุ่งสงส่งเงินที่อายัดให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีจังหวัดนครศรีธรรมราชวันที่ 18 มกราคม 2542 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชวันที่ 29 มกราคม 2542 จึงอยู่ภายในกำหนดระยะเวลา 14 วัน ตามกฎหมาย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งคำร้องแล้วต่อไป.