คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1157/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290มีสาระสำคัญสองประการ ประการแรกเมื่อได้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้วห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นซ้ำอีก กับให้เจ้าหนี้รายอื่นมีอำนาจยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นอีกประการหนึ่ง และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 302 วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่าศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีคือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้นเนื่องจากมาตรา 290 วรรคหนึ่ง ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการยื่นคำร้องไว้จึงได้บัญญัติไว้ในวรรคห้าว่าในกรณีอายัดทรัพย์สิน ให้ยื่นคำขอเสียก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ และเป็นบทบัญญัติที่เชื่อมโยงมาจากวรรคหนึ่งจึงไม่จำต้องระบุศาลที่จะรับคำร้องไว้ในวรรคห้าซ้ำอีกเพราะเป็นที่เข้าใจได้ว่าหมายถึงศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีศาลจังหวัดทุ่งสงบังคับคดีตามหมายอายัดแทนศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2541 แล้วส่งเงินที่ถูกอายัดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2542การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชวันที่ 29 มกราคม 2542 จึงอยู่ในระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินตามเช็คแก่โจทก์จำนวน 381,515 บาท พร้อมดอกเบี้ยจำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีอายัดเงินที่จำเลยทั้งสองจะได้รับจากโรงเรียนกีฬา จังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแขวงนครศรีธรรมราชในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 153/2541ซึ่งพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 36,500 บาทให้แก่ผู้ร้อง แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องได้ยื่นคำขอต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดีและแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีจำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินอื่นใดนอกจากเงินที่โจทก์ขออายัดไว้ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยเงินดังกล่าว

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า โรงเรียนกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ส่งเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดทุ่งสงเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2541 ดังนั้น ผู้ร้องจึงต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเงินภายใน 14 วัน นับแต่วันดังกล่าว แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 29มกราคม 2542 ซึ่งสิ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้แล้วขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ร้องให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องไว้พิจารณา

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลจังหวัดทุ่งสงบังคับคดีตามหมายอายัดแทนศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดทุ่งสงได้รับเงินที่ถูกอายัดจากโรงเรียนกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราชลูกหนี้ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2541 แล้วส่งเงินดังกล่าวให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2542 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชวันที่ 29 มกราคม 2542คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เกินกำหนด 14 วัน นับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 บัญญัติว่า “เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นซ้ำอีก แต่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเช่นว่านี้มีอำนาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ตนเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” เห็นว่า ตามบทบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญ 2 ประการ ประการแรกเมื่อได้มีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ห้ามมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นซ้ำอีก กับให้เจ้าหนี้รายอื่นดังกล่าวมามีอำนาจยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นอีกประการหนึ่ง ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 302 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ชัดเจนว่าศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีคือศาลที่ได้พิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นต้น สำหรับคดีนี้จึงได้แก่ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชเนื่องจากมาตรา 290 วรรคหนึ่งมิได้กำหนดระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ไว้ จึงได้บัญญัติในวรรคห้าของมาตราเดียวกันว่า”ในกรณีอายัดทรัพย์สิน ให้ยื่นคำขอเสียก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่ชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้” เมื่อวรรคห้านี้เป็นบทบัญญัติเชื่อมโยงมาจากวรรคหนึ่ง จึงไม่จำต้องระบุศาลที่จะรับคำร้องไว้ในวรรคห้าซ้ำอีกเพราะเป็นที่เข้าใจได้ว่าหมายถึงศาลที่มีอำนาจออกหมายบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดทุ่งสงส่งเงินที่อายัดให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีจังหวัดนครศรีธรรมราชวันที่ 18 มกราคม 2542 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชวันที่ 29 มกราคม 2542 จึงอยู่ภายในกำหนดระยะเวลา14 วันตามกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ร้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share