คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1156/2504

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ขณะกระทำผิด พระราชบัญญัติอากรการฆ่าสัตว์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2496 ยังใช้บังคับอยู่ แม้ต่อมาชั้นพิจารณาได้ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อ พ.ศ. 2502 ก็ตาม แต่การฆ่าโคกระบือที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายยังคงถือว่าเป็นความผิดอยู่ และไม่มีคุณแก่ผู้กระทำผิด จึงต้องใช้พระราชบัญญัติอากรการฆ่าสัตว์ที่ใช้ขณะกระทำผิดบังคับแก่คดีตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญา
ฆ่ากระบือ กฏหมายให้ปรับเรียงตัวสัตว์ที่ฆ่าได้ไม่เกินตัวละ 500 บาท ฉะนั้น เมื่อศาลปรับเรียงตัวจำเลยจึงปรับได้ไม่เกินคนละ 500 บาท

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยให้การรับสารภาพฟังได้ว่าจำเลยได้ร่วมกันฆ่ากระบือ ๑ ตัวโดยไม่รับอนุญาตและเสียอากร ศาลชั้นต้นปรับจำเลยที่ ๓ เป็นเงิน ๕๐๐ บาท จำเลยนอกนั้นปรับคนละ ๔๐๐ บาท ลดให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ ๓ เป็นเงิน ๒๕๐ บาท ปรับจำเลยนอกนี้คนละ ๒๐๐ บาท ฯลฯ
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ว่าจำเลยร่วมกันฆ่ากระบือ ๑ ตัว ศาลปรับได้อย่างมาก ๕๐๐ บาท คือปรับเรียงตัวจำเลย ๕ คนได้ไม่เกินคนละ ๑๐๐ บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน อ้างฎีกาที่ ๑๓๓๘/๒๔๙๘
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในขณะศาลฎีกากำลังพิจารณาคดีนี้ แม้ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อ พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้ยกเลิกพระราชบัญญัติอากรการฆ่าสัตว์ พ.ศ. ๒๔๘๘, ๒๔๙๐ (ทั้งฉบับที่ ๒ และที่ ๓) ตลอดจนกระทั่งพระราชบัญญัติอากรการฆ่าสัตว์ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งใช้อยู่ในขณะกระทำผิดด้วยก็ตาม แต่ยังคงถือเอาการฆ่าสัตว์เช่น โค กระบือ โดยมิได้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าเป็นความผิดอยู่อย่างเดิม ความผิดจึงหาได้ยกเลิกไปไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติฉบับหลังนี้มาตรา ๑๘ ได้วางโทษหนักกว่ากฎหมายเก่า ประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่ง กฎหมายใหม่นี้ ถึงแม้จะไม่มีคำว่า “การวางโทษปรับให้วางเรียงตัวผู้กระทำผิด” เหมือนอย่างกฎหมายที่ใช้ขณะจำเลยกระทำผิด มาตรา ๔ ซึ่งดูเสมือนหนึ่งว่ามีวิธีวางโทษเบากว่ากฏหมายที่ใช้ขณะจำเลยกระทำผิดก็ตาม แต่ก็ยังมี ความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑ ที่บัญญัติให้ศาลปรับเรียงตามรายตัวบุคคล โดยเหตุนี้ กฎหมายใหม่ที่บัญญัติในภายหลังการกระทำผิด จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยประการใด ศาลจึงชอบที่จะใช้พระราชบัญญัติอากรการฆ่าสัตว์ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำผิดบังคับแก่คดีนี้ ตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติอากรการฆ่าสัตว์ มาตรา ๑๑ ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติอากรการฆ่าสัตว์ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๔ มีความว่า “ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๕ มีความผิดต้องระวางโทษดังนี้ (๑) ถ้าเป็นโคหรือกระบือ ปรับตัวละไม่เกิน ๕๐๐ บาท หรือจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ การวางโทษปรับให้วางเรียงตัวผู้กระทำผิด และเรียงตัวสัตว์ที่ฆ่า…..” และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑ บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลจะพิจารณาให้ปรับผู้กระทำความผิดหลายคนในความผิดอันเดียวกันในกรณีเดียวกัน ให้ศาลวางโทษปรับเรียงตามรายตัวบุคคล
บทกฎหมายมีอยู่ดังกล่าว การปรับจำเลยในคดีนี้จึงต้องปรับเรียงตัวจำเลยและเรียงตัวสัตว์ที่ฆ่า กล่าวคือ ถ้าฆ่าสัตว์หลายตัว อัตราโทษตามกฎหมาย ซึ่งผู้กระทำผิดแต่ละคนจะได้รับก็สูงขึ้น ความผิดของจำเลยนี้เป็นการฆ่าสัตว์ตัวเดียว ตามพระราชบัญญัติอากรการฆ่าสัตว์ปรับเรียงตัวสัตว์ที่ฆ่าไม่เกินตัวละ ๕๐๐ บาท ดังนั้น เมื่อปรับเรียงตัวจำเลย จึงปรับจำเลยแต่ละคนได้ไม่เกินคนละ ๕๐๐ บาท ที่ศาลทั้งสองวางโทษปรับจำเลยไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงพิพากษายืน

Share