คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4813/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องอยู่ในที่ดินพิพาทโดยการเช่าจากผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดจึงเป็นการครอบครองที่ดินแทนผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดตลอดมาจนถึงผู้คัดค้าน แม้ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทมาเกิน 10 ปี ก็หาได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ไม่

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องได้ครอบครองใช้ประโยชน์ทำนาและอยู่อาศัยในที่ดินโฉนดเลขที่ 809 เลขที่ดิน 59ตำบลบางพลีน้อย อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ 1 งาน 96 ตารางวา โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า70 ปีแล้ว จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์โดยแต่เดิมที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกตกทอดจากบิดามารดาผู้ร้องเป็นบุตรจึงมีกรรมสิทธิ์แต่ผู้เดียว เมื่อต้นเดือนสิงหาคม2532 นางวชิรา เชี่ยวชาญวลิชกิจ เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวได้ติดต่อให้ผู้ร้องไปดูหลักฐานที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ร้องจึงขอให้สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการจดทะเบียนให้ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว แต่นางวชิราไม่ยินยอมจึงขอให้ศาลสั่งแสดงว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ ห้ามมิให้นางวชิราเข้ามาเกี่ยวข้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า เดิมนางทิมมารดาผู้ร้องนายวงษ์พี่ของผู้ร้องและผู้ร้องถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกัน เมื่อ พ.ศ. 2474 ผู้ร้องกับพวกได้ขาดที่ดินพิพาทให้แก่ผู้มีชื่อและได้มีการโอนเปลี่ยน ผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อมาอีกหลายทอดจนถึงนายประสิทธิ์ นิมมานกุล และนายประเสริฐ นิมมานกุลต่อมาวันที่ 29 พฤษภาคม 2528 นายประสิทธิ์และนายประเสริฐขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว นับแต่วันที่ผู้คัดค้านซื้อที่ดินพิพาทมาจนถึงวันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้ไม่ถึง10 ปี และผู้ร้องมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริต เปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ หากแต่อยู่ในที่ดินพิพาทในฐานะเป็นผู้เช่าและได้เช่าจากผู้คัดค้าน ผู้ร้องมิได้ฟ้องผู้คัดค้านภายใน 1 ปี นับแต่ทราบว่าผู้คัดค้านได้ครอบครองที่ดินพิพาท คดี ของผู้ร้องขาดอายุความ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้โดยไม่ฟ้องผู้คัดค้าน เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหลีกเลี่ยงค่าขึ้นศาล จึงขอให้ศาลสั่งยกคำร้องขอของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้ร้องฎีกาโดยอ้างว่าผู้ร้องเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทจนได้สิทธิโดยทางปรปักษ์แล้วแต่ผู้ร้องติดใจฎีกาในปัญหาความสุจริตในการจดทะเบียนนิติกรรมของผู้คัดค้านตลอดจนปัญหาอื่นนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งวินิจฉัยในประเด็นสำคัญที่เป็นหลักแห่งข้อหาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิของผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินที่พิพาทนี้ตลอดมาเป็นการครอบครองแทนไม่ได้สิทธิในการครอบครองปรปักษ์ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยใช้ถ้อยคำสำนวนว่า “แม้หากจะฟังว่าผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้วก็ตาม” เป็นเพียงการยก ข้อแม้ขึ้นเป็นสมมุติฐาน หาได้เป็นการรับฟังเป็นข้อเท็จจริงว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์แล้วดังที่ผู้ร้องเข้าใจไม่ และที่ศาลอุทธรณ์อาศัยข้อสมมุติฐานดังกล่าวและขยายความต่อไปว่า สิทธิของผู้ร้องแม้หากมีตามข้อสมมุติฐาน เมื่อยังไม่ได้จดทะเบียนก็มิอาจยกขึ้นต่อสู้สิทธิของผู้คัดค้านซึ่งจดทะเบียนการได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินพิพาทโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตลอดจนเหตุอื่น ๆ อีกด้วยนั้นเป็นเพียงการขยายเพิ่มเติมเหตุผลในการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นหลักแห่งคดีนี้เท่านั้น เป็นเหตุผลในข้อปลีกย่อย คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงสำคัญแห่งคดีรับฟังได้ตามคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองซึ่งโจทก์จำเลยมิได้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นว่า เดิมที่ดินพิพาทเป็นของนายสอนบิดาผู้ร้อง เมื่อนายสอนถึงแก่กรรม มารดาผู้ร้องพี่ชายผู้ร้อง และตัวผู้ร้องได้รับโอนทางมรดกแล้วจดทะเบียนโอนขายให้แก่บุคคลภายนอกไปในวันเดียวกันคือวันที่16 มีนาคม 2474 โดยมารดาผู้ร้องเป็นผู้ทำนิติกรรมแทนพี่ชายผู้ร้องและผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ในขณะนั้นดังปรากฏตามเอกสารหมาย ค.1 และ ค.2 ซึ่งผู้ร้องยอมรับเพียงนิติกรรมรับโอนมรดกที่ มารดา ได้กระทำแทน แต่ไม่ยอมรับนิติกรรมการโอนให้แก่บุคคลภายนอกทั้ง ๆ ที่ มารดาผู้ร้องกระทำแทนในคราวเดียวกันเป็นเรื่องที่ขัดต่อเหตุผลและข้อเท็จจริงและผู้ร้องเบิกความยอมรับด้วยว่า ทราบว่าที่ดินพิพาทมีโฉนด แต่ผู้ร้องอ้างว่าไม่สนใจว่าโฉนดอยู่ที่ใครจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นการบ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับความจริงอย่างชัดแจ้ง ชี้ให้เห็นข้อพิรุธของผู้ร้องว่า ผู้ร้องได้ทราบถึงการโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลภายนอกมาตั้งแต่ต้นประกอบกับผู้ร้องนำสืบว่าที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นนามีเนื้อที่3 ไร่เศษ เกือบครึ่งหนึ่งของที่ดินพิพาทมีญาติคือนายหยุดหรือสายหยุด แสงทอง เป็นผู้ทำนาโดยผู้ร้องเป็นผู้อนุญาตแต่นายสายหยุดได้เบิกความเป็นพยานผู้คัดค้านว่านายสายหยุดเช่าจากผู้มีชื่อในโฉนดขณะนั้น โดยผู้ร้องเป็นผู้แนะนำให้นายสายหยุดไปขอเช่าและนายสายหยุดยังยืนยันด้วยว่า ผู้ร้องได้เช่าที่ดินอยู่อาศัยจากผู้มีชื่อนั้นด้วย และเมื่อผู้มีชื่อในโฉนดจะโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านก็ ได้ถามนายสายหยุดว่าประสงค์จะซื้อที่ดินเช่าทำนาหรือไม่นายสายหยุดปฏิเสธไม่ซื้อเพราะไม่มีเงิน โดยทำหลักฐานการปฏิเสธไว้ปรากฏตามเอกสารหมาย ค.18 ด้วย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้แน่ชัดว่าผู้ร้องมิได้ครอบครองที่ดินส่วนที่เป็นนาแต่ประการใดเมื่อปรากฏว่าผู้ร้องและนายสายหยุดเกี่ยวพันเป็นญาติกัน ไม่มีเหตุที่จะสงสัยว่า นายสายหยุดจะลำเอียงให้เสียหายแก่ผู้ร้อง ที่นายสายหยุดยืนยันว่าผู้ร้องบอกว่าอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทก็โดยการเช่าจากผู้มีชื่อในโฉนดจึงน่าเชื่อถือ นอกจากนั้นแล้วยังปรากฏตามคำเบิกความของนายสม อิ่มละเอียด พยานผู้คัดค้านซึ่งเป็นกำนันท้องที่แห่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่ยืนยันว่า ผู้ร้องเคยไปบอกให้ช่วยหาคนมาซื้อที่ดินพิพาทจากผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินซึ่งผู้ร้องเช่าอยู่โดยประสงค์จะได้ค่านายหน้า และเมื่อผู้คัดค้านซื้อที่ดินพิพาทแล้ว ผู้ร้องยังได้มาขอร้องให้ตนไปที่อำเภอเพื่อทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากผู้คัดค้านด้วย แต่ในที่สุดตกลงกันไม่ได้เนื่องจากผู้ร้องต้องการเช่าเป็นระยะเวลา 5 ปีแต่ผู้คัดค้านจะให้เช่าเพียง 3 ปีเช่นนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่ผู้คัดค้านนำสืบว่า ผู้ร้องอยู่ในที่ดินพิพาทโดยการเช่าจากผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนด จึงเป็นการครอบครองที่ดินแทนผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดตลอดมาจนถึงผู้คัดค้านแม้ผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทมาเกิน 10 ปี ก็หาได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยเหตุอื่น ๆ ตามฎีกาผู้ร้องเป็นข้อปลีกย่อยซึ่งไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยในประเด็นหลักแห่งคดีได้ ศาลฎีกาไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share