คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3849/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 เป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารตามมาตรา 318 วรรคสาม ให้ลงโทษตามมาตรา 318 วรรคสามอันเป็นบทหนัก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงกำหนดโทษไม่ได้ เพียงแต่ปรับบทลงโทษและระบุวรรคให้ถูกต้อง อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย แม้ศาลล่างทั้งสองจะมิได้กำหนดโทษในความผิดตามมาตรา 310 วรรคแรกไว้ แต่ความผิดฐานนี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ศาลจะกำหนดโทษเกิน 3 ปี ย่อมไม่ได้ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดตามฟ้องอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยที่ 1 เฉพาะในความผิดข้อหานี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 310, 318, 83, 86, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 3, 9 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณานายโสเวช ถาวร ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 310, 318 วรรคสาม ประกอบมาตรา 90, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 3, 9 วางโทษฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารอันเป็นบทหนัก จำคุก 8 ปี ฐานข่มขืนกระทำชำเรา จำคุก 6 ปี รวมจำคุก 14 ปี ยกฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 วรรคสอง, 310 วรรคแรก ประกอบมาตรา 91 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 310 นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารตามมาตรา 318 วรรคสาม ให้ลงโทษตามมาตรา 318 วรรคสามอันเป็นบทหนัก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงกำหนดโทษไม่ได้เพียงแต่ปรับบทลงโทษและระบุวรรคให้ถูกต้อง อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย แม้ศาลล่างทั้งสองจะมิได้กำหนดโทษในความผิดตามมาตรา 310 วรรคแรกไว้ แต่ความผิดฐานนี้มีโทษจำคุกไม่เกิน3 ปี ศาลจะกำหนดโทษเกิน 3 ปี ย่อมไม่ได้ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1ฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดตามฟ้องอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงฎีกาของจำเลยที่ 1 เฉพาะในความผิดข้อหานี้จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเฉพาะข้อหาพรากผู้เยาว์ไปเพื่ออนาจารและข้อหาข่มขืนกระทำชำเราเท่านั้น
พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยที่ 1 แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2529 เวลา 20 นาฬิกานายสุรินทร์ บุรีรักษ์ ได้ชวนจำเลยที่ 1 กับพวก 3 คน ดื่มสุราและกินอาหารที่ร้านอาหาร “ลมอิสาน” ของโจทก์ร่วมที่ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา จนถึงเวลา 23 นาฬิกาเศษ จำเลยที่ 1 กับพวกได้บังคับพาผู้เสียหายซึ่งเป็นน้องสาวคนละบิดาของโจทก์ร่วมซึ่งช่วยทำงานด้วยขึ้นรถยนต์ไปจากร้านและไปค้างที่บ้านจำเลยที่ 2 หมู่ที่ 2 ตำบลรัตภูมิ กิ่งอำเภอควนเนียงจังหวัดสงขลา 1 คืน รุ่งเช้าจำเลยที่ 1 พาผู้เสียหายไปงานบวชนายวิชัย แล้วผู้เสียหายได้หลบไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอควนเนียง ส่วนโจทก์ร่วมไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรตำบลปาดังเบซาร์เช่นกันว่าผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1 ฉุดพาตัวไปเพื่อการอนาจาร ในเดือนกรกฎาคม 2529 จำเลยที่ 1 มอบตัวสู้คดีและตำรวจจับกุมตัวจำเลยที่ 2 ได้ คดีมีปัญหาว่าจำเลยที่ 1กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ได้ความจากผู้เสียหาย นางสาวละอองสิงห์แก้ว โจทก์ร่วมและนางประไพ ถาวร ว่า ระหว่างที่นายสุรินทร์กับจำเลยที่ 1 และพวกนั่งดื่มสุราและกินอาหารในร้านอยู่นั้น นายสุรินทร์ได้พูดขอน้องสาวจากโจทก์ร่วมและพูดจาเกี้ยวพาราสีนางสาวละอองตลอดเวลา ทั้งจำเลยที่ 1ได้ไปยืนคุยกับนายสุรินทร์นอกร้านและหน้าห้องน้ำในร้านอย่างมีพิรุธ จนเวลา 24 นาฬิกาเศษ โจทก์ร่วมออกไปนั่งดื่มสุรากับพวกที่โรงแรมวิลล่าซึ่งอยู่ห่างประมาณ 30 เมตร ครั้นผู้เสียหายเดินไปตามโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 กับพวกก็ขับรถยนต์ติดตามทั้งขาไปและขากลับ ได้ความจากผู้เสียหายนางสาวละออง นางประไพต่อไปว่าจำเลยที่ 1 กับพวกไม่ยอมจ่ายค่าอาหาร ทั้งจำเลยที่ 1ทำทีเป็นขอเข้าห้องน้ำเมื่อออกมาก็ตรงเข้ารวบมือผู้เสียหายทั้งสองข้างพร้อมกับฉุดลากดึงไปที่รถยนต์กระบะซึ่งพวกจำเลยที่ 1จอดรออยู่ที่หน้าร้าน ผู้เสียหายขัดขืนและร้องขอความช่วยเหลือก็ถูกจำเลยที่ 1 ข่มขู่ด้วยอาวุธปืนและผลักเข้าไปนั่งในรถยนต์ซึ่งพวกของจำเลยที่ 1 ขับ และจำเลยที่ 1 นั่งกั้นทางลงตรงประตูด้านซ้าย นางประไพมองเห็นรีบวิ่งไปบอกโจทก์ร่วมและพากันไปแจ้งเหตุต่อร้อยตำรวจโทศุภวัฒน์ ทับเคลียว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลปาดังเบซาร์ เห็นว่า คำพยานโจทก์และโจทก์ร่วมสอดคล้องกันในสาระสำคัญ แม้จะมีข้อแตกต่างกันบ้างกล่าวคือ ผู้เสียหายเบิกความว่าจำเลยที่ 1 จับแขนโดยรวบมือทั้งสองข้างของผู้เสียหายฉุดจากหน้าห้องน้ำภายในร้านไปที่รถยนต์แต่นางสาวละอองเบิกความว่าเห็นจำเลยที่ 1 ฉุดผู้เสียหายที่ถนนหน้าร้านก็ตาม แต่ก็เป็นเพราะขณะเกิดเหตุนางสาวละอองอยู่ชั้นบนของร้าน ไม่เห็นเหตุการณ์ขณะผู้เสียหายถูกฉุดในร้านนอกจากนั้นร้อยตำรวจโทศุภวัฒน์ก็เบิกความยืนยันว่า วันเกิดเหตุโจทก์ร่วมได้แจ้งความระบุชื่อจำเลยที่ 1 ว่าเป็นคนร้ายฉุดพาตัวผู้เสียหายไปจริง คำพยานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ มีปัญหาต่อไปว่าจำเลยที่ 1 ได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายหรือไม่ได้ความจากผู้เสียหายว่าระหว่างที่ผู้เสียหายถูกจำเลยที่ 1นำตัวไปในรถและเดินทางอยู่นั้น จำเลยที่ 1 ได้ใช้ผ้าอุดปากและชกท้องผู้เสียหายจนสลบ จนถึงบ้านจำเลยที่ 2 ผู้เสียหายก็ถูกจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนขู่บังคับและฉุดให้ลงไปพักที่บ้านจำเลยที่ 2กับบ้านตรงข้ามตามลำดับ ในคืนนั้นจำเลยที่ 1 ได้ใช้กำลังกายปลุกปล้ำผู้เสียหาย ครั้นผู้เสียหายร้องขอความช่วยเหลือก็ถูกจำเลยที่ 1 ใช้ผ้าปิดปากและใช้มือชกต่อยหน้าท้องจนผู้เสียหายล้มลงแล้วใช้กำลังกายถอดเสื้อผ้าทำการข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง โดยผู้เสียหายไม่อาจดิ้นรนขัดขืนได้รุ่งเช้าจำเลยที่ 1 พาผู้เสียหายไปงานบวชของนายวิชัยผู้เสียหายจึงขอให้หญิงคนหนึ่งช่วยพาหลบหนี แล้วผู้เสียหายไปแจ้งความต่อตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอควนเนียงแม้โจทก์จะไม่ได้นำหญิงดังกล่าวมาเบิกความ แต่โจทก์มีแพทย์หญิงปราณี กีรติชีวนันท์ เบิกความว่า ได้ตรวจร่างกายผู้เสียหายเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2529 ตามที่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรตำบลปาดังเบซาร์ส่งมา ได้ตรวจพบร่องรอยเขียวช้ำที่ต้นแขนซ้ายขนาดกว้าง 2 เซนติเมตร ที่หน้าท้องเมื่อกดจะเจ็บเล็กน้อยแสดงถึงการถูกทำร้าย และที่อวัยวะเพศพบร่องรอยช้ำแดงที่แคมเล็กทั้งตรวจพบตัวอสุจิภายในช่องคลอดตามบันทึกผลการตรวจชันสูตรบาดแผลเอกสารหมาย ป.จ.1 เมื่อประกอบกับข้อเท็จจริงที่ผู้เสียหายหลบหนีจากจำเลยที่ 1 แล้วรีบแจ้งเหตุต่อตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอควนเนียงและภายหลังแจ้งความต่อตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรตำบลปาดังเบซาร์ตามที่โจทก์ร่วมพาไปว่าถูกจำเลยที่ 1 บังคับพาตัวไปข่มขืนกระทำชำเรา ทั้งได้ความจากโจทก์ร่วมกับนางประไพและนางสาวละอองว่า ขณะที่ไปรับตัวผู้เสียหายที่สถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอควนเนียงนั้น ผู้เสียหายนั่งร้องไห้ไม่หยุด บอกว่าถูกจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเรา บ่นปวดท้องและอยากตายแล้วเห็นว่า ผู้เสียหายเป็นหญิง ย่อมได้รับความอับอายและเสียหายถ้าเรื่องราวที่แจ้งต่อตำรวจและพยานโจทก์ไม่เป็นความจริงจึงเชื่อได้เป็นมั่นคงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกพาผู้เสียหายซึ่งอายุไม่เกิน 18 ปี ไปจากความปกครองของโจทก์ร่วมแล้วข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายจริง ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ผู้เสียหายมีพฤติการณ์เป็นหญิงบริการ โดยโจทก์ร่วมเป็นนายหน้านั้นได้ความจากร้อยตำรวจโทศุภวัฒน์พนักงานสอบสวนว่าร้านอาหารโจทก์ร่วมมีแต่ผู้หญิงบริการด้านอาหาร ไม่ได้บริการด้านอื่นแต่อย่างใด ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ไม่น่ารับฟัง ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share