แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ผู้จัดการธนาคารอุตสาหกรรมยื่นคำร้องขอหรือคำฟ้องต่อศาลนั้น ไม่ใช่เป็นการทำนิติกรรมของธนาคารอุตสาหกรรมและทั้งไม่ใช่เป็นการตั้งตัวแทนของธนาคารอุตสาหกรรมด้วย หากเป็นแต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า คณะกรรมการธนาคารอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้ผู้จัดการทำการยื่นคำร้องขอหรือคำฟ้องในคดีได้หรือไม่ เอกสารต่างๆ ที่ธนาคารอุตสาหกรรมซึ่งเป็นโจทก์ส่งต่อศาล จึงเป็นแต่เพียงพยานหลักฐานเบื้องต้นแห่งการมอบหมายให้ดำเนินคดี ไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจหรือการตั้งตัวแทนอันจะต้องทำตามแบบ ถ้าจำเลยต้องการโต้แย้งว่าผู้จัดการธนาคารอุตสาหกรรมไม่ได้รับมอบหมายให้ยื่นคำร้องขอต่อศาล ก็เป็นหน้าที่ของผู้อ้างเอกสารและผู้ปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงแห่งเอกสารนั้น จะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบให้เห็นประจักษ์
ย่อยาว
คดีนี้ เริ่มด้วยธนาคารฯ โดยพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยกรรมการผู้จัดการยื่นคำร้องขอโดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจของคณะกรรมการธนาคาร ขอให้ศาลสั่งกองหมายขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่นายสมพงษ์ เชาวนประดิษฐ์ ได้ทำสัญญาจำนองไว้เป็นประกันการที่บริษัทสมพงษ์พาณิชย์ จำกัด กู้เงินธนาคารผู้ร้องเป็นจำนวนเงิน 1,500,000 บาท บริษัทลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระต้นเงินดอกเบี้ยตามกำหนด ธนาคารได้บอกกล่าวบังคับจำนองแก่ผู้จำนองแล้วก็ไม่ชำระนายสมพงษ์ เชาวนประดิษฐ์ และบริษัทสมพงษ์พาณิชย์ จำกัด ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้จัดการของธนาคารไม่ได้รับมอบหมายให้ยื่นคำร้องขอหรือคำฟ้องนี้โดยชอบ และว่าผู้ร้องไม่มีสิทธิจะบังคับจำนองเพราะผู้คัดค้านไว้ได้ทำผิดเงื่อนไขแห่งสัญญากู้ ฯลฯศาลแพ่งให้ดำเนินคดีไปตามบทบัญญัติว่าด้วยคดีมีข้อพิพาท เรียกผู้ร้องขอว่า โจทก์ผู้คัดค้านว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ตามลำดับ
ศาลแพ่งสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วเห็นว่า จำเลยต่อสู้ว่า พระองค์เจ้าวิวัฒนไชยไม่มีอำนาจร้องบังคับจำนองเพราะไม่ได้รับมอบอำนาจและแถลงว่า เอกสาร จ.1-2-3 ไม่ปิดอากรแสตมป์และไม่มีจำนวนกรรมการตามกฎหมาย จึงฟังเป็นหลักฐานในคดีไม่ได้ พิพากษาให้ยกฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิจะฟ้องร้องใหม่เมื่อมีอำนาจโดยชอบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการธนาคารและตามพระราชบัญญัติธนาคารอุตสาหกรรม พ.ศ. 2495 มาตรา 11 ผู้จัดการธนาคารมีอำนาจดำเนินคดีนี้ได้ และตาม พระราชบัญญัติธนาคารฯ มาตรา 39 ธนาคารนี้ได้รับยกเว้นไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ในเอกสารของธนาคาร จึงพิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลแพ่งวินิจฉัยประเด็นอื่น ๆ อีกแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปความ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ประเด็นในชั้นนี้มีอยู่เพียง 2 ข้อ คือ
1. การที่ผู้จัดการของธนาคารอุตสาหกรรมยื่นคำร้องขอหรือคำฟ้องนี้ ผู้จัดการธนาคารได้รับมอบหมายให้ยื่นได้โดยชอบหรือไม่ และ
2. เอกสารที่โจทก์ส่งยื่นต่อศาลจำต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร จึงจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่
ในประเด็น ข้อ 1. พระราชบัญญัติธนาคารอุตสาหกรรม พ.ศ. 2495 มาตรา 18 บัญญัติว่า “ให้คณะกรรมการธนาคารเป็นผู้แทนธนาคารในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก แต่คณะกรรมการธนาคารจะมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารหรือผู้จัดการเป็นผู้แทนก็ได้” ศาลฎีกาเห็นว่า”การมอบหมาย” ของคณะกรรมการในกรณีที่ว่านี้ หาใช่เป็นการทำนิติกรรมของธนาคารอุตสาหกรรมแต่อย่างใดไม่ และทั้งไม่ใช่การตั้งตัวแทนของธนาคารอุตสาหกรรม หากเป็นแต่ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่า คณะกรรมการได้มอบหมายให้ผู้จัดการทำการยื่นคำร้องขอหรือคำฟ้องในคดีนี้หรือไม่เอกสารต่าง ๆ ที่โจทก์ส่งต่อศาลจึงเป็นแต่เพียงพยานหลักฐานเบื้องต้นแห่งการมอบหมาย ไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจหรือการตั้งตัวแทนอันจะต้องทำตามแบบตามที่จำเลยยกขึ้นเป็นข้อโต้แย้ง เมื่อจำเลยต้องการโต้แย้งว่า ผู้จัดการธนาคารไม่ได้รับมอบหมายให้ยื่นคำร้องขอต่อศาล ก็เป็นหน้าที่ของผู้อ้างเอกสารและผู้ปฏิเสธความถูกต้องแท้จริงแห่งเอกสารนั้น จะต้องนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบให้เห็นประจักษ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 66 และตาม พระราชบัญญัติธนาคารอุตสาหกรรม พ.ศ. 2495 ก็ได้ให้อำนาจคณะกรรมการที่จะมอบหมายได้ โดยไม่ได้กำหนดวิธีการอย่างใดไว้
ส่วนประเด็น ข้อ 2 พระราชบัญญัติธนาคารอุตสาหกรรม ฯ มาตรา 39มีข้อความชัดอยู่แล้วว่า “ให้ธนาคารได้รับยกเว้นจากการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร” การที่ต้องปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์เป็นการให้เสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรอย่างหนึ่ง ข้อโต้แย้งของจำเลยข้อนี้ ฟังไม่ขึ้น
คดียังคงเหลือประเด็นที่จำเลยยกขึ้นต่อสู้อีกหลายข้อ เป็นประเด็นข้อพิพาท ซึ่งศาลฎีกาเห็นควรให้ศาลชั้นล่างได้วินิจฉัยเสียก่อนตามลำดับศาล จึงพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์