แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดกรมศุลกากรจำเลยที่ 1 ถูกกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยที่ 1 ตั้งกรรมการสอบสวนความผิดของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่3 อธิบดีกรมศุลกากรได้มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากราชการตามมติของ อ.ก.พ.กระทรวงการคลัง เป็นการปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของทางราชการฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ เมื่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์สั่งไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบอย่างไรแล้ว ศาลไม่มีอำนาจหน้าที่เข้าไปวินิจฉัยชี้ขาดอีกโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งหรือพิพากษาให้จำเลยเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่355/2516)
แม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าจำเลยจงใจกลั่นแกล้งโจทก์ เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่เมื่อพิจารณาฟ้องทั้งหมดแล้วได้ความว่า จำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการสอบสวนได้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนโดยชอบธรรม และผู้บังคับบัญชาได้สั่งลงโทษโจทก์ตามอำนาจหน้าที่อันชอบด้วยกฎหมายแล้ว การกระทำดังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องจึงไม่เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันทำละเมิดโจทก์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ไล่โจทก์ออกจากราชการ ให้โจทก์กลับเข้าสู่ฐานะเดิม และให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว มีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ปัญหาว่าโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ไล่โจทก์ออกจากราชการ หรือพิพากษาให้กรมศุลกากรจำเลยที่ 1 และ ก.พ. จำเลยที่ 2 เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้โจทก์เป็นข้าราชการพลเรือน สังกัดกรมศุลกากรจำเลยที่ 1 โจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าที่ จำเลยที่ 1 จึงมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ เมื่อสอบสวนเสร็จแล้วจำเลยที่ 1 ได้นำเสนอ อ.ก.พ.กระทรวงการคลังพิจารณา อ.ก.พ.กระทรวงการคลังมีมติให้ไล่โจทก์ออกจากราชการ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรจึงมีคำสั่งไล่โจทก์ออก อันเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2497 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น และในขณะที่จำเลยที่ 1 มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2521 นั้น มีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2518 ออกใช้บังคับแล้ว โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ ก.พ.จำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 มาตรา 105 และกฎ ก.พ.ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2518) ต่อมาเมื่อนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ตามมติของ ก.พ.แล้ว โจทก์จะอุทธรณ์ต่อไปอีกไม่ได้ตามกฎ ก.พ. ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2518) ข้อ 8 คำสั่งของนายกรัฐมนตรีจึงเป็นที่สุด โจทก์จะนำคดีมาฟ้องให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวโดยให้โจทก์มีสิทธิกลับเข้ารับราชการในฐานะเดิมไม่ได้ เพราะการตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดของโจทก์และจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากราชการตามมติของ อ.ก.พ.กระทรวงการคลังเป็นการปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของทางราชการฝ่ายบริหารโดยเฉพาะเมื่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์สั่งไปตามอำนาจหน้าที่โดยชอบอย่างไรแล้ว ศาลไม่มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอีก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งหรือพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกถอนคำสั่งที่ไล่โจทก์ออกจากราชการ เทียบได้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 355/2516
โจทก์ฎีกาว่าการกระทำของจำเลยทั้งหมดเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องข้อหาละเมิดได้ ศาลฎีกาเห็นว่า ในระหว่างโจทก์ถูกสอบสวนได้มีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2518 และกฎ ก.พ.ออกตามความในพระราชบัญญัติดังกล่าวออกใช้บังคับการสอบสวนความผิดของโจทก์ย่อมจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนตามพระราชบัญญัติและกฎ ก.พ.ดังกล่าว ฉะนั้น คณะกรรมการสอบสวนจึงต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และขั้นตอนต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ใน กฎ ก.พ. ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2518) ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา หากคณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนโจทก์ผิดทำนองคลองธรรม ไม่เปิดโอกาสให้โจทก์นำพยานหลักฐานเข้าสืบแสดงความบริสุทธิ์ของโจทก์ ทั้งยังเกลี้ยกล่อมและข่มขู่พยานให้ปรักปรำโจทก์ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎ ก.พ. ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2518) ผู้บังคับบัญชาที่พิจารณาสำนวนการสอบสวนย่อมจะเห็นข้อบกพร่องดังกล่าวได้ และจะต้องท้วงติงคณะกรรมการสอบสวนว่าทำการสอบสวนโดยมิชอบ แต่ไม่ปรากฏว่าผู้บังคับบัญชาของโจทก์ทักท้วงว่าการสอบสวนไม่ชอบแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อนายกรัฐมนตรี โจทก์ย่อมยกข้อกล่าวหาว่าคณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนผิดทำนองคลองธรรม แต่ก็ไม่ปรากฏว่า ก.พ. ซึ่งขึ้นต่อสำนักนายกรัฐมนตรีมิได้เกี่ยวข้องมีส่วนได้เสียในหน้าที่การงานของโจทก์แต่อย่างใดได้พิจารณากลั่นกรองข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่โจทก์อีกชั้นหนึ่งแล้ว ในที่สุดก็เชื่อว่าโจทก์ผิดจริง จึงแสดงว่า ก.พ. ที่พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์เชื่อว่าไม่มีกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนทำการสอบสวนผิดทำนองคลองธรรมและกลั่นแกล้งปรักปรำโจทก์ดังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องแต่อย่างใด มิฉะนั้น ก.พ.ก็คงจะวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์แล้ว ก.พ.เห็นว่าโจทก์มีความผิดตามข้อกล่าวหานั้นแสดงว่าคณะกรรมการสอบสวนได้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทกฎหมายและระเบียบแบบแผนโดยชอบและเป็นธรรมแล้ว ฉะนั้น เมื่อโจทก์ถูกผู้บังคับบัญชาลงโทษตามอำนาจหน้าที่อันชอบด้วยกฎหมายแล้วการกระทำต่าง ๆ ดังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องจึงหาเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่
พิพากษายืน