คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1155/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 มีอาวุธปืนไม่มีเลขทะเบียนเครื่องหมายของเจ้าพนักงานประทับไว้ในความครอบครอง โดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นปืนของจำเลยที่ 2ซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้ได้ตามกฎหมาย ดังนี้ ข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่ในข้อสารสำคัญ และจำเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 588/2509)
ปืนมีเลขทะเบียนเครื่องหมายของเจ้าพนักงานเป็นของจำเลยที่ 2ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 มอบอาวุธปืนกระบอกที่กล่าวให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรถือในขณะกำลังรอขึ้นรถกลับบ้านมาด้วยกัน ดังนี้ จำเลยที่ 1 ยังไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1824/2499)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันมีอาวุธปืนลูกซองสั้นขนาดเบอร์ ๑๒ไม่มีเลขทะเบียนเครื่องหมายของเจ้าพนักงานประทับจำนวนหนึ่งกระบอกกับกระสุนปืนลูกซองขนาดเบอร์ ๑๒ จำนวน ๕ นัด ใช้ยิงได้ ไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒; (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๑๐ มาตรา ๓ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๘๓ กับขอให้ริบปืนและกระสุนปืนที่จับได้เป็นของกลาง
จำเลยที่ ๑ ให้การรับว่ามีปืนและกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่รับอนุญาตจริง แต่เป็นปืนมีทะเบียนของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ปืน กระสุนปืนของกลาง เป็นของตนมีทะเบียนและมีใบอนุญาตตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า ปืนของกลางเป็นของจำเลยที่ ๒ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ได้ตามกฎหมาย พิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒; (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๑๐มาตรา ๓ จำคุก ๖ เดือน ปรับ ๑,๐๐๐ บาท ลดโทษตามมาตรา ๗๘ ให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก ๓ เดือน ปรับ ๕๐๐ บาท โทษจำให้ยก และให้ยกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ ๒ปืนและกระสุนปืนคืนจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ทำความเห็นแย้งและรับรองอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
จำเลยที่ ๑ ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงยุติตามคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลชั้นต้นว่าอาวุธปืนของกลางของจำเลยที่ ๒ เป็นอาวุธปืนที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ได้ตามกฎหมาย ปัญหาที่จะพึงวินิจฉัยในอันดับแรกตามฎีกาของจำเลยที่ ๑ ว่าข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางพิจารณาต่างกับฟ้องหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ร่วมกับจำเลยที่ ๒ มีอาวุธปืนลูกซองสั้นขนาดเบอร์ ๑๒ จำนวนหนึ่งกระบอกไม่มีเลขทะเบียนเครื่องหมายของเจ้าพนักงานประทับไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ แต่ตามทางพิจารณากลับได้ความว่าอาวุธปืนของกลางที่กล่าวหาว่าจำเลยมีไว้ในความครอบครองนั้นเป็นอาวุธปืนของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ ๑ และเป็นอาวุธปืนที่จำเลยที่ ๒ ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ได้ตามกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสำคัญ และทั้งจำเลยที่ ๑ ก็มิได้หลงต่อสู้ประการใด เพราะองค์ความผิดในเรื่องนี้อยู่ที่ว่าจำเลยที่ ๑ มีอาวุธปืนของกลางนั้นไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่จริงหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ ๑ก็รับแล้วว่ามีอาวุธปืนของกลางไว้โดยมิได้รับอนุญาตจริง แต่แถลงว่าเป็นปืนมีทะเบียนของจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ ๑ ดังนั้น ศาลย่อมจะลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นก็ได้ ทั้งนี้ตามบรรทัดฐานในคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๘๘/๒๕๐๙ พนักงานอัยการจังหวัดชัยภูมิ โจทก์ นายหลงหรือสามารถเหิงขุนทดหรือดารากูล จำเลย
ปัญหาที่จะพึงวินิจฉัยในอันดับต่อไปนั้นมีว่า คดีนี้ถือได้หรือไม่ว่าจำเลยที่ ๑ มีอาวุธปืนของกลางไว้ในความครอบครอง ตามทางพิจารณาได้ความว่าสิบตำรวจตรีสมพงษ์ มณี กับพวก จับอาวุธปืนของกลางได้จากจำเลยที่ ๑ ในขณะที่จำเลยที่ ๑ กำลังอยู่กับจำเลยที่ ๒ ที่ตลาดสำนักขุนเณรสถานที่เกิดเหตุ เนื่องจากจำเลยทั้งสองพร้อมด้วยมารดาของจำเลยที่ ๑เดินทางกลับจากนาที่บ้านกุดประดู่ได้แวะเข้ามาที่ตลาดนั้นเพื่อว่าจ้างรถจักรยานยนต์ไปส่งบ้านซึ่งอยู่ที่ตำบลห้วยเขต และจำเลยที่ ๒ ได้มอบอาวุธปืนของกลางแก่จำเลยที่ ๑ ในขณะที่กำลังรอจะขึ้นรถดังกล่าว ก่อนแต่นี้ไม่เคยมอบให้ ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.๒๔๙๐ที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยนั้น บัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดทำ ซื้อ มี ใช้ สั่ง หรือนำเข้ามาซึ่งอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ และคำว่า “มี” ตามพระราชบัญญัติที่กล่าวนี้ มาตรา ๔(๖)ได้ให้คำนิยามไว้ว่า หมายความว่ามีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในความครอบครองดังนั้น การที่จำเลยที่ ๑ ยึดถืออาวุธปืนของกลางของบิดาไว้อย่างกรณีเรื่องนี้ไม่ทำให้จำเลยที่ ๑ มีกรรมสิทธิ์ในอาวุธปืนนั้น และการที่จำเลยที่ ๑ ยึดถืออาวุธปืนไว้ให้บิดาผู้เป็นเจ้าของชั่วขณะหนึ่งโดยที่เจ้าของก็คงควบคุมดูแลอยู่อย่างใกล้ชิดโดยตลอด จึงหาใช่ว่าจำเลยที่ ๒ ได้มอบให้จำเลยที่ ๑ ครอบครองเป็นอิสระโดยลำพังดังศาลอุทธรณ์กล่าวไม่ เช่นนี้ จึงไม่ทำให้จำเลยที่ ๑ มีสิทธิครอบครองในอาวุธปืนนั้น เพราะจำเลยที่ ๑ มิได้ยึดถือเพื่อตนเลย นอกจากนี้สิทธิครอบครองอาวุธปืนของกลางก็ยังคงอยู่กับจำเลยที่ ๒ ผู้เป็นเจ้าของ ฉะนั้นจึงไม่เรียกว่าจำเลยที่ ๑ มีอาวุธปืนของกลางไว้ในความครอบครองดังที่โจทก์กล่าวหา จำเลยที่ ๑ ย่อมไม่มีความผิด คดีทำนองนี้ศาลฎีกาเคยพิพากษาเป็นบรรทัดฐานมาแล้ว คือ ฎีกาที่ ๑๘๒๔/๒๔๙๙ พนักงานอัยการจังหวัดสระบุรีโจทก์นายสมจิตร ปุดตา จำเลย เมื่อการกระทำของจำเลยที่ ๑ ตามที่ได้ความนั้นไม่เป็นความผิดเช่นนี้แล้วถึงแม้จำเลยที่ ๑ จะได้ให้การรับดังที่ศาลชั้นต้นจดไว้ก็ลงโทษจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ต้องยกฟ้อง
โดยเหตุนี้ ศาลฎีกาจึงไม่เห็นพ้องกับศาลทั้งสองที่พิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๑ ฎีกาจำเลยที่ ๑ ฟังขึ้น
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑เสียด้วยนอกจากที่แก้ คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share