แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ผู้เสียหายจะได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาไว้สำนวนหนึ่งแล้ว ก็ไม่มีกฎหมายจำกัดอำนาจของพนักงานอัยการมิให้ฟ้องจำเลยนั้นในเรื่องเดียวกันเป็นคดีใหม่อีกสำนวนหนึ่ง
ย่อยาว
คดีทั้ง 4 สำนวนนี้ ศาลล่างทั้งสองได้พิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกพนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมาเป็นโจทก์ นายเซี่ยมฮวดโจทก์ในสำนวนที่ 3 ว่าโจทก์ที่ 1 และนายอ่องโจทก์ในสำนวนที่ 4 ว่าโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสี่สำนวนฟ้องมีข้อความทำนองเดียวกันว่า จำเลยบังอาจร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ดินของนายสุทัศน์ ลิ้มพงศานุรักษ์ ซึ่งมอบให้โจทก์ที่ 1 ครอบครองดูแลรักษา และบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์ที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 2 ครอบครองอยู่และร่วมกันใช้ไม้กระดานตีปิดกั้นประตูบ้านของโจทก์ที่ 1 และประตูบ้านของโจทก์ที่ 2 เป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365
จำเลยทุกสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า ข้อเท็จจริงยังไม่พอจะชี้ขาดว่าเขตที่ดินระหว่างโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 อยู่ตรงไหนแน่ แต่เชื่อว่าจำเลยที่ 1, 3, 4 ได้ปิดกั้นประตูบ้านของโจทก์ที่ 1 และของโจทก์ที่ 2 จริง ทำให้โจทก์ทั้งสองเข้าออกไม่ได้ ถือว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองโดยปกติสุข พิพากษาว่าจำเลยที่ 1, 3, 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 364 ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 หนึ่งพันบาท ปรับจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 คนละห้าร้อยบาท ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษตามมาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ 1 ห้าร้อยบาท ปรับจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 คนละสองร้อยห้าสิบบาทสำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์นำสืบไม่ถึงว่าได้ร่วมกระทำผิดด้วย พิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1, 3, 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1, 3, 4 ฎีกา
ปัญหาที่ขึ้นสู่ศาลฎีกามีเฉพาะแต่ปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับอำนาจฟ้องของโจทก์ว่า (1) เมื่อผู้เสียหาย (คือโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2)ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วยตนเองแล้ว โจทก์ (พนักงานอัยการ) ไม่มีอำนาจดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ซ้ำอีกและ (2) การที่ผู้เสียหายฟ้องจำเลยที่ 1 เพียงคนเดียว ถือได้ว่าผู้เสียหายไม่ประสงค์ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยอื่น โจทก์ (พนักงานอัยการ) จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในปัญหาข้อแรก เห็นว่า ไม่มีกฎหมายจำกัดอำนาจของพนักงานอัยการมิให้ฟ้องคดีอาญาที่ผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องไว้แล้ว ตรงกันข้ามข้อความในมาตรา 33 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้บัญญัติถึงการพิจารณาคดีซึ่งทั้งพนักงานอัยการและผู้เสียหายต่างยื่นฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันแสดงว่า ผู้เสียหายและพนักงานอัยการต่างยื่นฟ้องคดีอาญาเรื่องเดียวกันได้ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ จึงไม่เป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ ฯลฯ ส่วนในปัญหาข้อหลังปรากฏว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่คนว่าร่วมกันบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 ซึ่งมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวหรือเป็นความผิดที่ยอมความกันได้ พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจทำการสอบสวนได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหาย ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 121 ฉะนั้นการที่ผู้เสียหายฟ้องจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวจะถือว่าผู้เสียหายไม่ประสงค์จะร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับจำเลยอื่น ดังฎีกาของจำเลยได้หรือไม่ก็ตาม ก็ไม่ตัดอำนาจของพนักงานอัยการที่ฟ้องจำเลยเหล่านั้น
พิพากษายืน