คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4822/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนของศาลล้มละลายกลาง เจ้าหนี้ได้อ้างปัญหาที่ว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ชอบหรือไม่ และแผนฟื้นฟูกิจการมีอำนาจปรับลดหนี้ภาษีอากรหรือไม่ไว้ในคำคัดค้านแล้ว เมื่อปัญหาดังกล่าวเป็นข้อสำคัญเกี่ยวกับการพิจารณาแผน การที่ศาลล้มละลายกลางมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาตามข้อกำหนดคดีล้มละลายฯ ข้อ 25 เมื่อมีการอุทธรณ์ปัญหานี้มาสู่ศาลฎีกาและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในสำนวนก็เพียงพอแก่การวินิจฉัยประกอบกับคดีฟื้นฟูกิจการจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาเหล่านี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวก่อน
แผนฟื้นฟูกิจการได้จัดให้เจ้าหนี้อยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ราชการเนื่องจากสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันกับเจ้าหนี้ราชการอื่น เมื่อเจ้าหนี้ได้รับสำเนาแผนและกำหนดวัน เวลา สถานที่และหัวข้อประชุมตามมาตรา 90/44ถือว่าเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนแล้วถ้าเจ้าหนี้เห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่เป็นไปตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคหนึ่ง ก็อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม เพื่อขอให้ศาลสั่งให้จัดกลุ่มเจ้าหนี้เสียใหม่ แม้จะไม่ปรากฏชัดว่าเจ้าหนี้ได้รับแผนฟื้นฟูกิจการในวันใด แต่เมื่อเจ้าหนี้ได้เข้าร่วมประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 จึงถือได้ว่าเจ้าหนี้ได้ทราบถึงการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนแล้วในวันดังกล่าวหรือก่อนหน้านั้น เมื่อเจ้าหนี้เพิ่งมายื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน ซึ่งมีคำคัดค้านในส่วนการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มาด้วย โดยยื่นคำคัดค้านในวันที่ 13 มีนาคม 2544 การร้องคัดค้านการจัดกลุ่มของเจ้าหนี้จึงเป็นการยื่นเกินระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนจึงถือเป็นอันยุติและถึงที่สุดตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง แล้ว
ในการขอแก้ไขแผน เจ้าหนี้จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/45 และการที่ศาลจะพิจารณาแผนที่มีการแก้ไขแล้วได้นั้น แผนที่มีการแก้ไขแล้วจะต้องผ่านการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้มาแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 90/46 แต่อย่างไรก็ตามการที่กฎหมายล้มละลายกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในการควบคุมดูแลการฟื้นฟูกิจการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนั้น เมื่อได้คำนึงถึงเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการหรือเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการดำเนินการต่อไปได้ ทั้งกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้รับคำขอแก้ไขแผนที่ยื่นล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ได้
พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/27 และ 90/60 ประสงค์ให้หนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภทซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในระบบการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด แม้ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้ภาษีอากรก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้หนี้สินของลูกหนี้ที่มีอยู่แล้วได้รับการชำระสะสางภายใต้กรอบของแผนฟื้นฟูกิจการให้เสร็จไปนอกจากนี้กรณีใดที่พระราชบัญญัติล้มละลายฯ ต้องการให้มูลหนี้ภาษีอากรมีสิทธิเหนือเจ้าหนี้ธรรมดาหรือคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษกฎหมายก็จะบัญญัติไว้ชัดแจ้ง เมื่อกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ภาษีอากรในมูลหนี้ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นพิเศษ ภายใต้บังคับของมาตรา 90/58(2) ประกอบด้วยมาตรา 130(6) สิทธิของเจ้าหนี้จึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่น ทั้งเมื่อพระราชบัญญัติล้มละลายฯ หมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้บัญญัติผลของการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้เป็นการเฉพาะโดยชัดแจ้งแล้วตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำมาตรา 56 ในเรื่องผลของการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายมาใช้ได้
การที่พิจารณาว่าหากดำเนินการตามแผนสำเร็จแล้ว เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ จะต้องนำมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ที่ลูกหนี้มีอยู่ทั้งหมดมาประกอบการพิจารณา ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้นจะต้องมีการนำทรัพย์สินที่ลูกหนี้มีอยู่มาดำเนินการขายทอดตลาดในลักษณะบังคับขายแต่ตามแผนฟื้นฟูกิจการนั้นจะต้องมีการดำเนินกิจการของลูกหนี้ในวันที่จะก่อให้เกิดรายได้มาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เพิ่มขึ้น การฟื้นฟูกิจการตามแผนเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จแล้วเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีทีศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย แผนฟื้นฟูกิจการจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 90/58(3)
แผนฟื้นฟูกิจการเป็นเพียงข้อตกลงร่วมกันของบรรดาเจ้าหนี้ ลูกหนี้เกี่ยวกับวิธีการในการชำระหนี้ตลอดการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ หามีฐานะเป็นกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับไม่ การที่เจ้าหนี้คัดค้านว่าแผนฟื้นฟูกิจการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 แต่การที่เจ้าหนี้ได้คัดค้านว่าแผนไม่อาจปรับลดยอดหนี้ภาษีอากรได้และแผนฟื้นฟูกิจการขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น พออนุมานได้ว่าเจ้าหนี้คัดค้านว่าพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/58 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการให้ความเห็นชอบด้วยแผนขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัญหาดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าบทบัญญัติมาตรา 90/58 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญศาลสามารถใช้ดุลพินิจเห็นชอบด้วยแผนดังกล่าวได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งให้บริษัทสยามซินเท็ค แพลนเนอร์ จำกัด เป็นผู้ทำแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่า เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ได้มีการแก้ไขแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/46(2) ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้แจ้งกำหนดวันนัดพิจารณาแผนให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/56
เจ้าหนี้ยื่นคำคัดค้านขอให้มีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในส่วนของเจ้าหนี้ราชการ และให้ทำการแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในส่วนของเจ้าหนี้ราชการ คือ
1) แก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการในหัวข้อการชำระหนี้ การขยายระยะเวลาชำระหนี้และการลดหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ ข้อ 7.3 เป็น
7.3 เจ้าหนี้ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาล แบ่งเป็น
7.3 ก เจ้าหนี้ภาษีอากร
7.3 ข เจ้าหนี้นอกจากเจ้าหนี้ภาษีอากร
2) ขอให้แก้ไขแผนการชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ภาษีอากรโดยตัดข้อความเดิมในข้อ 7.3 ก) และระบุข้อความใหม่ คือ
ก) เจ้าหนี้ภาษีอากร รวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้ได้รับชำระเต็มตามจำนวน
นอกจากกรณี 1) และ 2) ที่เจ้าหนี้ขอแก้ไขนี้แล้ว ให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่ผ่านการยอมรับของที่ประชุมเจ้าหนี้
ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจ้งว่า แผนฟื้นฟูกิจการได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 90/42 ทวิ การโต้แย้งการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามที่เจ้าหนี้คัดค้านนั้นมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ถูกต้อง กล่าวคือ การคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ในการฟื้นฟูกิจการต้องกระทำภายใน 7 วัน นับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มโดยทำเป็นคำร้องขอต่อศาลตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ณ วันที่ 14 มีนาคม2544 พ้นกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มเจ้าหนี้แล้ว สิทธิของเจ้าหนี้ในการโต้แย้งการจัดกลุ่มเจ้าหนี้สิ้นสุดลง มาตรา 90/42 เป็นบทกฎหมายซึ่งวางข้อกำหนดเกี่ยวกับความครบถ้วนของรายการในแผนฟื้นฟูกิจการโดยมิได้กำหนดให้แผนฟื้นฟูกิจการแบ่งแยกการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเอกชนกับเอกชน กับการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเอกชนกับรัฐ แผนฟื้นฟูกิจการจึงสามารถปรับลดหนี้ภาษีอากรได้ แผนฟื้นฟูกิจการไม่มีผลทำให้เจ้าหนี้รับชำระหนี้น้อยกว่ากรณีศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแต่ประการใด เนื่องจากมูลหนี้ภาษีอากรซึ่งมีบุริมสิทธิในการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายนั้นต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา 130 เป็นสำคัญ โดยไม่ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ของมาตรา 256 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ประกอบ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้ต้องชำระภาษีอากรซึ่งเกิดขึ้นภายใน 6 เดือน ก่อนวันที่ 21 มิถุนายน2543 อันเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 130(6) ก่อนการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ในมูลหนี้ตามมาตรา 130(7) ผู้ทำแผนได้พิจารณาจำนวนหนี้ทั้งหมด มูลหนี้ภาษีอากรประมาณ 13,485,159.78 บาท เป็นหนี้ภาษีอากรที่เกิดขึ้นภายใน 6 เดือนก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น ลูกหนี้จะชำระหนี้จำนวนดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้ภายหลังจากวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการหรือวันที่ศาลมีคำสั่งถึงที่สุดเกี่ยวกับคำขอรับชำระหนี้และลูกหนี้จะชำระหนี้สำหรับมูลหนี้ที่ถึงกำหนดชำระเกินกว่า6 เดือน ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ ภายใน 7 ปีนับแต่วันที่แผนมีผลบังคับ ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการกับกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้สำหรับมูลหนี้ภาษีอากรที่ถึงกำหนดชำระเกินกว่า 6 เดือน ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเพียงจำนวน 1,540,000 บาท หรือร้อยละ 1.56 ของจำนวนหนี้คงเหลือ ดังนั้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการมากกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแผนฟื้นฟูกิจการไม่มีลักษณะที่ขัดต่อมาตรา 90/58(3) แต่ประการใด
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำชี้แจงว่า การร้องคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้เมื่อเจ้าหนี้รายใดเห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มิได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายก็สามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มได้ตามมาตรา 90/42 ทวิวรรคสอง เจ้าหนี้กลุ่มที่ 2 เจ้าหนี้ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐบาลและองค์การของรัฐบาลจะได้รับชำระคืนเต็มจำนวนสำหรับหนี้ภาษีอากรที่เกิดขึ้นภายใน 6 เดือนก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตามเงื่อนไขที่กำหนดในมาตรา 130(6) เมื่อเปรียบเทียบประมาณการผลตอบแทนแก่เจ้าหนี้ในแต่ละกลุ่มระหว่างกรณีที่ถูกพิพากษาให้ล้มละลายและกรณีฟื้นฟูกิจการในหน้า 82 ของแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้ว การที่เจ้าหนี้อ้างว่าจะได้รับชำระหนี้น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายจึงเป็นไปไม่ได้
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ประการแรกว่า การที่ศาลล้มละลายกลางมิได้หยิบยกปัญหาที่ว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ชอบหรือไม่ และแผนฟื้นฟูกิจการมีอำนาจปรับลดหนี้ภาษีอากรหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยตามที่เจ้าหนี้อ้างในคำคัดค้าน กรณีจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าคดีนี้ในชั้นพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนของศาลล้มละลายกลาง เจ้าหนี้ได้อ้างปัญหาดังกล่าวในคำคัดค้านแล้ว เมื่อปัญหาดังกล่าวเป็นข้อสำคัญเกี่ยวกับการพิจารณาแผน การที่ศาลล้มละลายกลางมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาตามข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ข้อ 25 แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีการอุทธรณ์ปัญหานี้มาสู่ศาลฎีกา และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในสำนวนก็เพียงพอแก่การวินิจฉัยประกอบกับคดีฟื้นฟูกิจการจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำพิพากษาโดยรวดเร็ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาเหล่านี้ไปเสียทีเดียว โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล้มละลายกลางวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวก่อน
ประการที่สอง การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483มาตรา 90/42 ทวิ เนื่องจากไม่มีการจัดกลุ่มเจ้าหนี้แยกเจ้าหนี้ราชการเป็นมูลหนี้ภาษีอากรออกจากเจ้าหนี้ราชการในมูลหนี้อื่นหรือไม่ นั้น มาตรา 90/42 ทวิ(3) บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ไม่มีประกันอาจจัดได้เป็นหลายกลุ่ม โดยให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน” และมาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง บัญญัติว่า “เจ้าหนี้รายใดเห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่ได้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มและศาลอาจมีคำสั่งให้จัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็วคำสั่งตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด”เห็นว่า แผนฟื้นฟูกิจการได้จัดให้เจ้าหนี้อยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ราชการเนื่องจากสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันกับเจ้าหนี้ราชการอื่น เมื่อเจ้าหนี้ได้รับสำเนาแผนและกำหนดวันเวลา สถานที่และหัวข้อประชุมตามมาตรา 90/44ถือว่าเจ้าหนี้ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนแล้ว ถ้าเจ้าหนี้เห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่เป็นไปตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคหนึ่ง ก็อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มเพื่อขอให้ศาลสั่งให้จัดกลุ่มเจ้าหนี้เสียใหม่ แม้จะไม่ปรากฏชัดว่าเจ้าหนี้ได้รับแผนฟื้นฟูกิจการในวันใดแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้เข้าร่วมประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 กรณีจึงถือได้ว่าเจ้าหนี้ได้ทราบถึงการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนแล้วในวันดังกล่าวหรือก่อนหน้านั้น เมื่อเจ้าหนี้เพิ่งมายื่นคำคัดค้านขอให้ศาลมีคำสั่งไม่เห็นชอบด้วยแผน ซึ่งมีคำคัดค้านในส่วนการจัดกลุ่มเจ้าหนี้มาด้วยโดยยื่นคำคัดค้านในวันที่ 13 มีนาคม 2544 เช่นนี้ การร้องคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้จึงเป็นการยื่นเกินระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามแผนจึงถือเป็นอันยุติและถึงที่สุดตามมาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง แล้ว อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประการที่สาม ก่อนที่ศาลจะพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผน เจ้าหนี้มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งผู้ทำแผนแก้ไขแผนได้หรือไม่ เห็นว่า ในการขอแก้ไขแผนนั้น เจ้าหนี้จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/45 และการที่ศาลจะพิจารณาแผนที่มีการแก้ไขแล้วได้นั้น แผนที่มีการแก้ไขแล้วดังกล่าวจะต้องผ่านการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้มาแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/46 แต่อย่างไรก็ตามการที่กฎหมายล้มละลายกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในการควบคุมดูแลการฟื้นฟูกิจการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายนั้น เมื่อได้คำนึงถึงเพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการหรือเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการดำเนินการต่อไปได้ ทั้งกรณีมีเหตุจำเป็นและสมควร ศาลมีอำนาจสั่งให้รับคำขอแก้ไขแผนที่ยื่นล่วงเลยระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เพื่อให้ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ได้
ประการที่สี่ แผนฟื้นฟูกิจการจะกำหนดให้ยกเว้นเบี้ยปรับ เงินเพิ่มและลดหนี้ภาษีอากรซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่เห็นว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/27 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ ถ้ามูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ..” และมาตรา 90/60บัญญัติว่า “แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้วผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้…” กฎหมายจึงประสงค์ให้หนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ทุกประเภท ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเข้ามาอยู่ในระบบการฟื้นฟูกิจการทั้งหมด แม้ว่าหนี้นั้นจะเป็นหนี้ภาษีอากรก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้หนี้สินของลูกหนี้ที่มีอยู่แล้วได้รับการชำระสะสางภายใต้กรอบของแผนฟื้นฟูกิจการให้เสร็จไปนอกจากนี้กรณีใดที่พระราชบัญญัติล้มละลายฯ ต้องการให้มูลหนี้ภาษีอากรมีสิทธิเหนือเจ้าหนี้ธรรมดาหรือคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้ภาษีอากรเป็นพิเศษ กฎหมายก็จะบัญญัติไว้ชัดแจ้ง เช่น ผลของการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายตามมาตรา 56 การปลดจากล้มละลายตามมาตรา 77 หนี้ภาษีอากรซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตามมาตรา 90/27 วรรคสาม หนี้ภาษีอากรที่เกิดขึ้นเนื่องจากการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามแผนมาตรา 90/62(2) หรือหนี้ภาษีอากรที่ถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือน ก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 130(6) เช่นนี้ เมื่อกฎหมายไม่ได้ให้สิทธิหรือคุ้มครองแก่เจ้าหนี้ภาษีอากรในมูลหนี้ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเป็นพิเศษ ภายใต้บังคับของมาตรา 90/58(2) ประกอบด้วยมาตรา 130(6) สิทธิของเจ้าหนี้จึงมีฐานะเช่นเดียวกับเจ้าหนี้อื่นทั้งเมื่อพระราชบัญญัติล้มละลายหมวด 3/1 ว่าด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้บัญญัติผลของการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนไว้เป็นการเฉพาะโดยชัดแจ้งแล้วตามมาตรา 90/60 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำมาตรา 56 ในเรื่องผลของการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายมาใช้โดยอนุโลมดังเช่นที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ได้ อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น
ประการที่ห้า เมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จ เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ เห็นว่าเมื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ประกอบคำชี้แจงของผู้ทำแผนและการที่เจ้าหนี้มิได้คัดค้านแล้ว ฟังได้ว่า ในวันที่ 21 มิถุนายน 2543 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการลูกหนี้มีสินทรัพย์ซึ่งมีมูลค่าทางบัญชี 1,254,440,000 บาท แต่ก็ปรากฏว่า มีราคาที่แท้จริงภายหลังการปรับลดโดยการตรวจสอบความครบถ้วนสมบูรณ์ของสินทรัพย์และการมีมูลค่าที่แท้จริงหากนำออกขายทอดตลาดแล้วจำนวน 325,030,000 บาท ในการที่จะพิจารณาว่าหากดำเนินการตามแผนสำเร็จแล้วเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ จะต้องนำมูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ที่ลูกหนี้มีอยู่ทั้งหมดมาประกอบการพิจารณา ในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายนั้นจะต้องมีการนำทรัพย์สินที่ลูกหนี้มีอยู่มาดำเนินการขายทอดตลาดในลักษณะบังคับขาย ซึ่งตามแผนหลังจากพิจารณาโดยอาศัยหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในคำชี้แจงของผู้ทำแผนฉบับลงวันที่ 26 มีนาคม 2544 หน้า 22 ถึงหน้า 30 แล้ว ในกรณีที่ลูกหนี้ล้มละลายนั้นจะมีสินทรัพย์มาแบ่งชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้จำนวน 325,030,000 เจ้าหนี้ไม่มีประกันจะได้รับชำระหนี้คืนประมาณร้อยละ 1.75 สำหรับส่วนของเจ้าหนี้ผู้คัดค้านนี้หากศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ภาษีอากรที่ถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือนก่อนศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำนวน 13,485,159.78 บาท ส่วนหนี้ภาษีอากรที่ถึงกำหนดก่อนระยะเวลา 6 เดือน เจ้าหนี้จะได้รับชำระภาษีจำนวน1,540,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 1.56 แต่ตามแผนฟื้นฟูกิจการนั้น เจ้าหนี้ทั้งหลายจะได้รับชำระหนี้เป็นจำนวน 737,090,000 บาท ซึ่งจะชำระเป็นเงินสดจำนวน 641,490,000บาท โดยเงินจำนวนดังกล่าวจำนวน 200,000,000 บาท ได้จากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่นักลงทุนใหม่ (จำนวน 300,000,000 บาท) และจำนวน 441,490,000 บาท จะได้รับชำระจากเงินสดที่ได้จากการประกอบธุรกิจของลูกหนี้ภายหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้วและมีการชำระหนี้ด้วยการแปลงหนี้เป็นทุนจำนวน 96,029,430 บาท ตามแผนฟื้นฟูกิจการเจ้าหนี้ไม่มีประกันจะได้รับชำระหนี้ร้อยละ 6 ในส่วนของเจ้าหนี้ผู้คัดค้านนั้นจะได้รับชำระหนี้ในส่วนที่ถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือน ก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจำนวน 13,485,159.78 บาท หนี้ภาษีอากรที่ถึงกำหนดเกินกว่า 6 เดือน ก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จำนวน 5,954,968.78 บาท คิดเป็นร้อยละ6 ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงวิธีการฟื้นฟูกิจการซึ่งจะต้องมีการดำเนินกิจการของลูกหนี้ในอันที่จะก่อให้เกิดรายได้มาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เพิ่มขึ้นจึงเห็นได้ว่าการฟื้นฟูกิจการตามแผนเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จแล้วเจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแผนฟื้นฟูกิจการจึงชอบด้วยมาตรา 90/58(3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 แล้ว
ประการที่หก ที่เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า แผนฟื้นฟูกิจการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นั้น เห็นว่า แผนฟื้นฟูกิจการเป็นเพียงข้อตกลงร่วมกันของบรรดาเจ้าหนี้ลูกหนี้ เกี่ยวกับวิธีการในการชำระหนี้ตลอดจนการปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ หามีฐานะเป็นกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับไม่ การที่เจ้าหนี้คัดค้านว่าแผนฟื้นฟูกิจการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กรณีจึงมิใช่เป็นการโต้แย้งว่าบทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 6 แต่อย่างไรก็ตามการที่เจ้าหนี้ได้คัดค้านว่า แผนไม่อาจปรับลดยอดหนี้ภาษีอากรได้ และแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น พออนุมานได้ว่า เจ้าหนี้คัดค้านว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58 อันเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการให้ความเห็นชอบด้วยแผนขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัญหาดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้แล้วในคำวินิจฉัยที่ 35 – 36/2544 ว่าบทบัญญัติมาตรา 90/58 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เช่นนี้ เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว ศาลสามารถใช้ดุลพินิจเห็นชอบด้วยแผนดังกล่าวได้
เมื่อแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มีลักษณะครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดทั้งในการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการได้กำหนดให้มีการลดทุนของลูกหนี้ลงเพื่อให้มีสภาพสอดคล้องกับฐานะที่แท้จริงของลูกหนี้และเป็นการให้ผู้ถือหุ้นปัจจุบันร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย แล้วดำเนินการเพิ่มทุนขายหุ้นให้แก่ผู้ร่วมลงทุนคนใหม่และนำหุ้นเพิ่มทุนบางส่วนไปใช้ในการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยการแปลงหนี้เป็นทุนซึ่งจะทำให้เจ้าหนี้ทั้งหลาย มีส่วนในการเป็นผู้ร่วมทุนในบริษัทลูกหนี้ ทั้งตามวิธีดำเนินการตามแผนนั้นแผนได้กำหนดให้นำสินทรัพย์ของลูกหนี้อันมีอยู่จำกัดมาจัดสรรให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าหนี้ ทั้งเมื่อการดำเนินการตามแผนสำเร็จจะทำให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่ากรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ประกอบแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้รับการยอมรับจากที่ประชุมเจ้าหนี้ด้วยจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ที่เข้าประชุมและลงคะแนนถึงร้อยละ 80 และการที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนจะทำให้สามารถรักษาองค์กรทางธุรกิจไว้ได้และทำให้กิจการของลูกหนี้นั้นดำเนินกิจการต่อไป อันจะเป็นประโยชน์แก่พนักงานของลูกหนี้ เจ้าหนี้ ตลอดจนประชาชนทั่วไปและเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยส่วนรวมที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share