แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นแจ้งรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติให้จำเลยทราบ จำเลยไม่คัดค้านและลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา จำเลยจะมาโต้แย้งรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติในชั้นฎีกาไม่ได้ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15
รายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติระบุว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาของศาลจังหวัดนครนายกให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และในคดีของศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุก 1 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และในระหว่างที่ยังไม่ครบกำหนด 2 ปี ตามที่รอการลงโทษไว้ในคดีทั้งสองสำนวน จำเลยกระทำความผิดเป็นคดีนี้อีก แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องและขอให้บวกโทษในคดีทั้งสองสำนวนก่อนเข้ากับโทษคดีนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีทั้งสองสำนวนมาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ได้ตาม ป.อ. มาตรา 58 วรรคแรก กรณีนี้มิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยเพราะกฎฆมายบังคับให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังด้วย และมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ทั้งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ, 83
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 วรรคแรก (ที่ถูกมาตรา 335 (7) วรรคแรก) ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 9 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นแจ้งรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยไม่คัดค้านและลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาด้วย ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 3 ธันวาคม 2544 ดังนี้ จำเลยจะมาโต้แย้งรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติในชั้นฎีกาไม่ได้ ถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ นั้น มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีหกเดือนถึงเจ็ดปีหกเดือน และปรับตั้งแต่สามพันบาทถึงหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจวางโทษก่อนลดให้จำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือน จึงเป็นการลงโทษจำเลยตามอัตราขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยต่ำกว่านี้ได้อีกและการที่จำเลยร่วมกับพวกลักทรัพย์ของผู้เสียหายโดยใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด พาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นจากการจับกุมนับเป็นการกระทำความผิดที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวโดยมิได้คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่นและความสงบสุขของสังคมส่วนรวม โดยเฉพาะได้ความจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติว่าก่อนคดีนี้จำเลยมีประวัติกระทำความผิดมาแล้ว 2 ครั้ง ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2154/2543 ของศาลจังหวัดนครนายก ซึ่งพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2543 และในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 894/2544 ของศาลชั้นต้น ซึ่งพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ ให้จำคุก 1 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2544 แต่จำเลยยังได้กระทำความผิดเป็นคดีนี้อีกภายในเวลาที่รอการลงโทษไว้ในคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวแสดงว่าจำเลยมิได้เข็ดหลาบ และมิได้เกรงกลัวต่อโทษที่จะได้รับตามกฎหมาย พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่ร้ายแรง ที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น และเมื่อความปรากฏแก่ศาลเองจากรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาของศาลจังหวัดนครนายกในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2154/2543 ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 894/2544 ของศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุก 1 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และในระหว่างที่ยังไม่ครบกำหนด 2 ปี ตามที่รอการลงโทษไว้ในคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าว จำเลยกระทำความผิดเป็นคดีนี้อีกดังที่กล่าวมาแล้ว แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องและขอให้บวกโทษในคดีทั้งสองสำนวนก่อนเข้ากับโทษคดีนี้ก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2154/2543 ของศาลจังหวัดนครนายก และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 894/2544 ของศาลชั้นต้น มาบวกเข้ากับโทษในคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 วรรคแรก กรณีนี้มิใช่การเพิ่มเติมโทษจำเลยเพราะกฎหมายบังคับให้ศาลที่พิพากษาคดีหลังบวกโทษที่รอการลงโทษไว้ในคดีก่อนเข้ากับโทษในคดีหลังด้วย และมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ทั้งเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2154/2543 ของศาลจังหวัดนครนายก และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 894/2544 ของศาลชั้นต้น มาบวกเข้ากับโทษของจำเลยคดีนี้ รวมเป็นจำคุก 16 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1