คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1151/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การคิดดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่ธนาคาร ก. ได้กระทำไปฝ่ายเดียว จำเลยที่ 1 มีหน้าที่เพียงแต่ชำระเงินเท่านั้น การที่ธนาคาร ก. คิดดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่มีสิทธิถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำการอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ หรือเป็นการชำระหนี้โดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย เมื่อธนาคาร ก. ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เนื่องจากข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ กรณีจึงต้องนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่ธนาคาร ก. ไปแล้วทั้งหมดหักออกจากต้นเงินซึ่งเป็นหนี้ค้างชำระ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน สาขาวารินชำราบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้าประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าว ต่อมาธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้รายนี้แก่โจทก์และหยุดทำธุรกรรมตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2541 เป็นผลให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกัน ณ วันดังกล่าวจำเลยที่ 1 มีหนี้ค้างชำระ 710,332.81 บาท จำเลยทั้งสองทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับโจทก์ โดยยอมรับว่า ณ วันที่ 29 เมษายน 2546 จำเลยทั้งสองมีหนี้ค้างจำนวน 893,314.21 บาท และโจทก์ได้ทดรองจ่ายเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินจำนองแทนจำเลยทั้งสองไปจำนวน 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,290.42 บาท โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยทั้งสองเป็นหนี้อีกต่อไปจึงมีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนอง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 982,692.92 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14.25 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 701,319.14 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3968, 3816, 3822 และ 3890 ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินอื่นๆ ของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำฟ้องแล้ว เห็นว่าเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยาก จึงมีคำสั่งรับฟ้องและหมายเรียกให้จำเลยมาศาลเพื่อไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยานโจทก์จำเลยในวันเดียวกัน
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 342,651 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ร่วมกันชำระหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยจำนวน 1,290.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 3968, 3816, 3822 และ 3890 ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท ส่วนค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดีคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่ศาลชั้นต้นนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแก่โจทก์ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม 2541 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2546 รวม 14 ครั้ง เป็นเงิน 166,000 บาท ไปหักออกจากต้นเงินจำนวน 508,651 บาท ที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2541 เป็นการชอบ หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า เงินจำนวน 166,000 บาท เป็นหนี้ดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวโดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมาย เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จึงไม่มีสิทธิได้รับคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 และมาตรา 411 ศาลชั้นต้นไม่อาจนำเงินจำนวนดังกล่าวไปหักจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระนั้น เห็นว่า การคิดดอกเบี้ยเป็นเรื่องที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ได้กระทำไปฝ่ายเดียวจำเลยที่ 1 มีหน้าที่เพียงแต่ชำระเงินเท่านั้น การที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) คิดดอกเบี้ยแก่จำเลยที่ 1 โดยไม่มีสิทธิ ถือไม่ได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำการอันใดตามอำเภอใจเสมือนหนึ่งว่าเพื่อชำระหนี้โดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ หรือเป็นการชำระหนี้โดยฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายดังที่โจทก์อุทธรณ์ เมื่อธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเนื่องจากข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเป็นโมฆะ กรณีจึงต้องนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) ไปแล้วทั้งหมดหักออกจากต้นเงินจำนวน 508,651 บาท ซึ่งเป็นหนี้ค้างชำระ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2541 ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้ให้การต่อสู้คดีตั้งเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ก็ตาม แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นำเงินจำนวน 166,000 บาท ที่จำเลยที่ 1 ชำระไปหักออกจากต้นเงินจำนวน 508,651 บาท แล้วเหลือต้นเงินจำนวน 342,651 บาท จึงถูกต้องแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share