คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7841/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่พยานโจทก์ไม่เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังเช่นที่พยานโจทก์ปากอื่นเบิกความอาจเป็นเพราะพยาน จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้แน่ชัด ไม่ใช่ข้อแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญที่จะทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานโจทก์แต่อย่างใด
แม้การจับกุมจำเลยที่ 3 และที่ 4 จะเกิดจากการซัดทอดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่คำซัดทอดดังกล่าวมิใช่การซัดทอดเพื่อให้ตัวจำเลยที่ 1 และที่ 2 พ้นผิด จึงรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ร่วมกันติดต่อนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำหน่าย และลักษณะการกระทำความผิดมีการติดต่อระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับฝ่ายจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตั้งแต่ต้นโดยให้ฝ่ายจำเลยที่3 และที่ 4 เป็นผู้จัดหาเมทแอมเฟตามีน ส่วนจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะเป็นฝ่ายจำหน่าย เมื่อจำหน่ายได้เงินแล้วจะนำเงินมาแบ่งกันจึงเป็นการร่วมกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ มิใช่เป็นเรื่องใช้ให้จำหน่าย จำเลยที่ 3 ถึงที่ 4 มีความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย
แม้ว่าโจทก์จะไม่ฎีกาเกี่ยวกับความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของจำเลยที่ 3 และที่ 4 แต่เป็นเรื่องการปรับบทลงโทษ ศาลฎีกาสามารถแก้ไขให้ถูกต้อง โดยไม่เพิ่มโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๑๕, ๖๖, ๑๐๒ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๓ ริบของกลาง
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง (ที่ถูก วรรคหนึ่งด้วย) , ๖๖ วรรคสอง
โจทก์อุทธรณ์ ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๕ และริบรถยนต์กระบะของกลาง
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์ ขอให้ลงโทษสถานเบา จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ อุทธรณ์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๘ จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ อนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑ เสียจากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๑๕ วรรคสอง, ๖๖ วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มรตรา ๘๓ และมาตรา ๖๖ วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๖ และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖ (๑) …
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การที่ร้อยตำรวจเอก ก. จารุ พยานโจทก์ไม่ได้เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ ๒ จะเข้าไปนับเงินในรถเก๋งหรือไม่ ดังเช่นที่จ่าสิบตำรวจประยูรเบิกความนั้น อาจเป็นเพราะร้อยตำรวจเอก ก. จารุ จำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้แน่ชัด ไม่ใช่ข้อแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญที่จะทำลายน้ำหนักพยานหลักฐานโจทก์แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๘ พิพากษาเกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
สำหรับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ นั้น จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ให้การซัดทอดว่าเจ้าของเมทแอมเฟตามีนของกลางกำลังรออยู่ที่บ้านจำเลยที่ ๒ เพื่อรับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนซึ่งนำมาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ช่วยจำหน่าย เจ้าพนักงานตำรวจจึง ติดตามไปจับกุมจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้ที่บ้านจำเลยที ๒ ในทันที ชั้นจับกุมจำเลยที่ ๓ ให้การรับสารภาพ จำเลยที่ ๔ ให้การปฏิเสธ และร้อยตำรวจโทศิริชัยพนักงานสอบสวนเบิกความว่าชั้นสอบสวนจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้การ รับสารภาพ เห็นว่า แม้การจบกุมจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จะเกิดจากการซัดทอดของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันแต่คำซัดทอดดังกล่าวมิใช่การซัดทอดเพื่อให้ตัวจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ พ้นจากความผิด จึงรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้
จากพยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้ร่วมกันติดต่อนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จำหน่าย และจากรายละเอียดในบันมึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จะเห็นได้ว่า ลักษณะการกระทำเช่นนั้น มีการติดต่อระหว่างฝ่ายจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ กับฝ่ายจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ตั้งแต่ต้น โดยให้ฝ่ายจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นผู้จัดหาเมทแอมเฟตามีน ส่วนจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จะเป็นฝ่ายจำหน่าย เมื่อจำหน่ายได้เงินแล้วจะนำเงินมาแบ่งกัน ลักษณะจึงเป็นการร่วมกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำมิใช่เป็นเรื่องใช้ให้จำหน่ายแต่อย่างใด พยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๔ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย
แม้ว่าโจทก์จะไม่ได้ฎีกาเกี่ยวกับความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ แต่เป็นเรื่องการปรับบทลงโทษ ศาลฎีกาสามารถแก้ไขให้ถูกต้องโดยเพิ่มโทษจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นด้วย นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๘ .

Share