คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1150/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ครอบครองทรัพย์สินแทนผู้อื่นจะแย่งการครอบครองทรัพย์สินนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375ได้ก็ต่อเมื่อได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 เสียก่อน การที่ ห. ผู้ครอบครองที่ดินและบ้านซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของร.แทนทายาทของร.แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทแล้วต่อมาได้ขอและทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ ยังถือไม่ได้ว่า ห. ได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินและบ้านพิพาทโดยบอกกล่าวไปยังทายาทของร.ว่าตนไม่มีเจตนาที่จะยึดถือที่ดินและบ้านพิพาทไว้แทนอีกต่อไป แต่การที่ห.เอาที่ดินและบ้านพิพาททั้งหมดไปจำนองธนาคารในเวลาต่อมา แล้วส.ทายาทของร.ซึ่งเป็นสามีโจทก์ที่ 1 และบิดาโจทก์ที่ 2 ไปไถ่ถอนจำนองให้แล้วรับจำนองต่อเสียเองนั้น ถือได้ว่า ห. ได้บอกกล่าวโดยการกระทำต่อ ส.ตั้งแต่วันที่จำนองที่ดินและบ้านพิพาทกับส. แล้วว่าได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือจากการยึดถือครอบครองแทน ส.เป็นการยึดถือครอบครองเพื่อตนเองซึ่งเข้าลักษณะแย่งการครอบครองเมื่อ ส.และโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของส. มิได้ฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์ประธานภายในกำหนด 1 ปี ตามมาตรา 1375 บ้านพิพาทซึ่งเป็นส่วนควบก็ย่อมตกเป็นของ ห. ด้วย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาคืนที่ดินและบ้านพิพาทได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่านางหีต เมนาคม เป็นภรรยาของหลวงรำบาลทุกขพ่ายก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และไม่มีบุตรด้วยกัน จำเลยเป็นหลานของนางหีต นางหีตและหลวงรำบาลทุกขพ่ายมีที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 65 ไร่ พร้อมบ้านอยู่อาศัยบนที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส หลวงรำบาลทุกขพ่ายถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2473ส่วนนางหีตถึงแก่กรรมเมื่อปี พ.ศ. 2523 หลังจากหลวงรำบาลทุกขพ่ายถึงแก่กรรมแล้ว นางหีตได้ครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทตลอดมาจนนางหีตถึงแก่กรรม ก่อนหลวงรำบาลทุกขพ่ายได้นางหีตเป็นภรรยา หลวงรำบาลทุกขพ่ายมีภรรยามาแล้วสองคนและมีบุตรชายสามคน คือ นายอัมพร เมนาคม นายสมพล เมนาคม และนายสัมพันธ์ เมนาคม นายอัมพร เมนาคมถึงแก่กรรมไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2514 โจทก์ที่ 1 เป็นภรรยาของนายสัมพันธ์ เมนาคมมีบุตรคนหนึ่ง คือนายสัมภาสน์ เมนาคม โจทก์ที่ 2นายสัมพันธ์ เมนาคม ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2516โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของนายสัมพันธ์ เมนาคม มีสิทธิรับมรดกของหลวงรำบาลทุกขพ่ายที่ตกทอดแก่นายสัมพันธ์ เมนาคม
คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่าการที่นางหีตไปแจ้งการครอบครองที่พิพาทเมื่อปี พ.ศ. 2498ระบุชื่อนางหีตเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองเพียงคนเดียว และต่อมาอีก 13 ปี คือวันที่ 14 ตุลาคม 2511 นางหีตได้ยื่นคำร้องขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และทางอำเภอได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทให้เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2512กับการที่นางหีตเอาที่ดินและบ้านพิพาทไปจำนองกับธนาคารเมื่อพ.ศ. 2512 แล้วนายสัมพันธ์สามีโจทก์ที่ 1 และเป็นบิดาโจทก์ที่ 2ไปไถ่ถอนจำนองให้และรับจำนองเสียเองเมื่อ พ.ศ. 2513 นั้นจะถือได้หรือไม่ว่านางหีตได้แสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือแทนมาเป็นยึดถือเพื่อตน สำหรับเรื่องการแจ้งการครอบครองและขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อหลวงรำบาลทุกขพ่ายถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2473 ที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 65 ไร่ พร้อมบ้านอยู่อาศัยบนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสของนางหีตและหลวงรำบาลทุกขพ่าย ย่อมตกได้แก่นางหีต 1 ส่วนอีก 2 ส่วน เป็นมรดกตกได้แก่ทายาทของหลวงรำบาลทุกขพ่าย การที่นางหีตครอบครองทรัพย์ดังกล่าวต่อมาย่อมถือได้ว่าเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกส่วนของหลวงรำบาลทุกขพ่ายแทนทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับมรดก ดังนั้น แม้ในแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ตามเอกสารหมาย ล.1 จะปรากฏว่านางหีตเป็นผู้แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อปี พ.ศ. 2498 โดยแจ้งว่าได้มาโดยการจับจองปกครองเมื่อก่อนปี พ.ศ. 2480 หลักฐานการได้มาก็แจ้งไว้ว่านางหีตเพียงคนเดียวเป็นผู้ถือสิทธิครอบครอง และต่อมานางหีตได้ยื่นขอให้ทางการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามเอกสารหมาย ล.2โดยระบุว่า ได้ครอบครองทำสวนมะพร้าวและยางพารารับเบอร์ตลอดมาเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอได้ประกาศจนครบกำหนดแล้ว ไม่มีผู้ใดคัดค้านนายอำเภอจึงได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เมื่อวันที่5 มีนาคม 2512 การครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกส่วนของหลวงรำบาลทุกขพ่ายแม้นางหีตจะครอบครองมานานเท่าใดก็ยังไม่ได้สิทธิด้วยการแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 แต่จะต้องได้มีการบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 เสียก่อนการที่นางหีตซึ่งเป็นผู้ยึดถือครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทส่วนที่เป็นมรดกของหลวงรำบาลทุกขพ่ายแทนทายาทผู้มีสิทธิได้ไปแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และต่อมาทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ กรณีเช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่านางหีตได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินและบ้านพิพาทโดยบอกกล่าวไปยังทายาทผู้รับมรดกของหลวงรำบาลทุกขพ่ายว่าตนไม่มีเจตนาที่จะยึดถือที่ดินและบ้านพิพาทไว้แทนอีกต่อไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1381 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนเรื่องการจำนองและไถ่ถอนจำนองนั้นปรากฏว่าตามหนังสือสัญญาจำนองและเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเอกสารหมาย ล.3, ล.21และ ล.22/1 ที่นางหีตจำนองและไถ่ถอนจำนองกับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัด ว่าเป็นการจำนองและไถ่ถอนจำนองที่พิพาททั้งแปลงรวมทั้งบ้านพิพาทด้วยและเมื่อนางหีตจำนองต่อกับนายสัมพันธ์ในวันที่ 8 มิถุนายน 2513 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด ก็ปรากฏตามหนังสือสัญญาจำนอง และเรื่องราวขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเอกสารหมาย ล.4 และ ล.23 ว่า เป็นการจำนองที่ดินพิพาททั้งแปลงรวมทั้งบ้านพิพาทด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น หนังสือบอกกล่าวให้ไถ่ถอนจำนองเอกสารหมาย ล.5 ที่โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสัมพันธ์ให้ทนายความมีไปถึงนางหีต ก็เห็นได้ว่าเป็นการบอกกล่าวให้นางหีตไถ่ถอนที่ดินพิพาททั้งแปลงรวมทั้งบ้านพิพาทที่นางหีตจำนองไว้กับนายสัมพันธ์ ตามหนังสือสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.4 และเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2520ที่นางหีตไถ่ถอนจำนองจากกองมรดกของนายสัมพันธ์ซึ่งโจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้มอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย ล.6 ให้โจทก์ที่ 2 ไปจดทะเบียนไถ่ถอนการจำนองให้นางหีตแทน ตามเรื่องราวการขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเอกสารหมาย ล.24 แล้วนางหีตจำนองต่อกับนางสาวรัชนี ศรีวัชรานนท์ในวันเดียวกันนั้น ตามหนังสือสัญญาจำนองและเรื่องราวการขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเอกสารหมาย ล.7 และ ล.25 ก็ปรากฏว่าเป็นการไถ่ถอนจำนองและจำนองที่ดินพิพาททั้งแปลง รวมทั้งบ้านพิพาทด้วยเช่นกันทั้งโจทก์ที่ 1 ยังเบิกความรับด้วยว่า การจำนองของนางหีตกับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด ตามหนังสือจำนอง เอกสารหมาย ล.3 และกับนายสัมพันธ์ ตามหนังสือสัญญาจำนอง เอกสารหมาย ล.4 เป็นการจำนองที่ดินพิพาททั้งแปลงข้อที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่าการจำนองและไถ่ถอนจำนองทั้งหมดดังกล่าวเป็นการจำนองและไถ่ถอนจำนองเฉพาะส่วนของนางหีตเท่านั้น ก็คงมีแต่คำเบิกความของโจทก์ที่ 1 เพียงว่า นายสัมพันธ์บอกว่านางหีตพูดว่าจำนองเฉพาะส่วนของนางหีต ซึ่งเป็นพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อยและการที่โจทก์ทั้งสองในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนายสัมพันธ์ให้นางหีตไถ่ถอนที่ดินพิพาททั้งแปลงรวมทั้งบ้านพิพาท แล้วนำไปจำนองต่อกับนางสาวรัชนี ในวันเดียวกัน โดยมิได้มีการทักท้วงว่านางหีตมีสิทธิเอาที่ดินและบ้านพิพาทไปจำนองต่อเฉพาะส่วนของนางหีตเท่านั้น ย่อมเป็นการยอมรับว่านางหีตมีสิทธิในที่ดินและบ้านพิพาททั้งหมด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การที่นางหีตเอาที่ดินและบ้านพิพาทไปจำนองกับธนาคาร เมื่อ พ.ศ. 2512แล้วนายสัมพันธ์สามีโจทก์ที่ 1 และบิดาโจทก์ที่ 2 ไปไถ่ถอนจำนองให้และรับจำนองเสียเองเมื่อ พ.ศ. 2513 นั้น เป็นการจำนองที่ดินและบ้านพิพาททั้งหมดมิใช่เฉพาะส่วนของนางหีตดังที่โจทก์ทั้งสองอ้าง จึงถือได้ว่านางหีตได้บอกกล่าวโดยการกระทำต่อนายสัมพันธ์ตั้งแต่วันที่จำนองที่ดิน และบ้านพิพาทกับนายสัมพันธ์แล้วว่า การยึดถือครอบครองที่ดินและบ้านพิพาทได้เปลี่ยนลักษณะจากการยึดถือครอบครองแทนนายสัมพันธ์ เป็นยึดถือครอบครองเพื่อตนเองอันเป็นปรปักษ์ต่อนายสัมพันธ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ซึ่งเข้าลักษณะแย่งการครอบครอง เมื่อนายสัมพันธ์และโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของนายสัมพันธ์มิได้ฟ้องคดีเพื่อเรียกคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์ประธานภายในกำหนด 1 ปี ตามมาตรา 1375บ้านพิพาทซึ่งเป็นส่วนควบก็ย่อมตกเป็นของนางหีตด้วย โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาคืนที่ดินและบ้านพิพาทได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share