แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อโจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1-2 โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความชัดว่า. ที่ดินและห้องพิพาทเป็นของโจทก์ครอบครองมาจนได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมายและจำเลยที่ 2 รับซื้อไว้โดยไม่สุจริตเมื่อโจทก์มิได้จดทะเบียนสิทธิของโจทก์ไว้ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299โจทก์ก็ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกคือ จำเลยที่ 2 ผู้รับโอนที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิไว้แล้วนั้นได้
ย่อยาว
ได้ความว่าที่ดินและห้องแถวรายพิพาทอยู่ในโฉนดที่ 172 อันมีชื่อนายอุ่นผู้ซื้อจากนางจันสมกับจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ แล้วจำเลยที่ 1 โอนขายเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ให้แก่จำเลยที่ 2 ๆ รับซื้อไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนสิทธิแล้ว
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองให้ยกฟ้องโจทก์ โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความชัดว่า ที่ดินและห้องรายพิพาทเป็นของโจทก์ครอบครองมาจนได้กรรมสิทธิ์ตามกฎหมาย และจำเลยที่ 2 รับซื้อไว้โดยไม่สุจริต เช่นว่าจำเลยที่ 2 ทราบอยู่แล้วว่าที่ดินและห้องรายพิพาทเป็นของโจทก์ ๆ อยู่ในฐานะจะจดทะเบียนสิทธิของโจทก์ได้อยู่ก่อนแล้วจำเลยที่ 2 ยังขืนซื้อไว้ เมื่อโจทก์มิได้จดทะเบียนสิทธิของโจทก์ไว้ตามความใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 โจทก์ย่อมไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้แก่บุคคลภายนอกคือจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนที่ดินรายพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนสิทธิไว้แล้วนั้นได้ คดีของโจทก์ไม่มีทางจะขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้