คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1149/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์มีหนังสือสัญญากู้ยืมที่จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ระบุว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 20,000 บาท เป็นหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือซึ่งจำเลยต้องรับผิดแม้ภายหลังโจทก์แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ให้สูงขึ้นเป็น 120,000 บาท ซึ่งไม่เป็นไปตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกัน แต่ก็ไม่ทำให้หลักฐานกู้ยืมเงินที่ทำไว้แต่เดิมและมีผลสมบูรณ์ต้องเสียไป จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เท่าที่กู้ไปจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 197,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของเงินต้น 120,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่า หนังสือสัญญากู้เงินใช้บังคับได้หรือไม่ เพียงใด ซึ่งจะวินิจฉัยไปพร้อมกัน โจทก์นำสืบอ้างว่านายขมุน ทำสัญญาเงินกู้จากโจทก์ 120,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ชำระดอกเบี้ยเดือนละครั้ง กำหนดชำระหนี้คืนภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2538 ตามหนังสือสัญญากู้เงิน ซึ่งนายขมุนลงลายมือชื่อในฐานะผู้กู้เงิน และมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ค้ำประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ว่า นายขมุนกู้เงินโจทก์เพียง 20,000 บาท โจทก์นำหนังสือสัญญากู้เงินซึ่งมีเพียงการเขียนตัวเลข 20,000 บาท เท่านั้นมาให้นายขมุนลงลายมือชื่อในฐานะผู้กู้ และให้จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ค้ำประกันโดยไม่มีข้อความอื่นอีก และนำสืบว่านายขมุนขอกู้เงินจากโจทก์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2536 ไม่ใช่วันที่ 9 มิถุนายน 2537 ตามที่ลงในหนังสือสัญญากู้เงิน เห็นว่า จำเลยทั้งสองมีสำเนาเช็ค ซึ่งเป็นเช็คที่สั่งจ่ายโดยนายพิชัย สามีโจทก์ เป็นเช็คลงวันที่ 9 มิถุนายน 2536 จำนวนเงิน 20,000 บาท มาแสดง โดยจำเลยที่ 2 ยืนยันว่าเป็นเช็คที่สั่งจ่ายให้แก่นายขมุนเพื่อเป็นการให้นายขมุนกู้ยืมเงินในครั้งนี้ ที่โจทก์นำสืบอ้างว่าเช็คตามสำเนาเช็คเป็นเช็คชำระหนี้ค่าข้าวเปลือกที่นายขมุนนำมาขายให้แก่โจทก์ ส่วนเงินกู้ยืมที่ให้แก่นายขมุนนั้น โจทก์จ่ายเป็นเงินสด แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์มีอาชีพค้าขายพืชไร่ โดยเป็นผู้รับซื้อสินค้าทางการเกษตรจากเกษตรกรทั่วไปจำพวกข้าวเปลือก อันเป็นประเภทซื้อมาขายไป แต่โจทก์จำเป็นต้องมีเงินหมุนเวียนเพื่อใช้จ่ายพอสมควร ดังได้ความว่าโจทก์และสามีโจทก์ในช่วงเดือนมิถุนายน 2537 เป็นหนี้ธนารคารทหารไทย จำกัด เป็นจำนวนถึงเกือบสองล้านบาท ตามสำเนาบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์และสามีโจทก์ แสดงว่าโจทก์และสามีโจทก์จำเป็นต้องมีสินเชื่อเบิกเงินเกินบัญชีไว้ที่ธนาคารเพื่อเป็นทุนในการใช้จ่ายจึงไม่น่าที่โจทก์และสามีโจทก์จะเก็บเงินสดไว้ที่ตัวเองเป็นแสนบาทอันเป็นการเสียประโยชน์แก่โจทก์และสามีโจทก์เอง เพราะการนำเงินสดเข้าฝากในบัญชีเงินฝากของโจทก์และสามีโจทก์ ย่อมนำไปหักยอดหนี้ที่ค้างชำระธนาคารอันเป็นการลดภาระดอกเบี้ยที่โจทก์และสามีโจทก์ค้างชำระอยู่ได้ นอกจากนั้นยังได้ความว่าโจทก์ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ในยอดหนี้ที่โจทก์ค้างชำระกับธนาคารทหารไทยแต่กลับคิดดอกเบี้ยในการให้นายขมุนกู้ยืมเพียงร้อยละ 15 ต่อปี โดยอ้างว่าเป็นความพอใจของโจทก์ ซึ่งเมื่อคำนึงถึงว่าโจทก์เองก็ยอมรับว่าได้ให้บุคคลอื่นกู้ยืมเงินจึงนับว่าโจทก์ประกอบอาชีพด้านนี้ด้วย ซึ่งต้องประสงค์รายได้จากดอกเบี้ยที่จะได้รับจากการให้กู้ยืมเป็นหลัก การคิดดอกเบี้ยต่ำกว่าที่ตนเองจะชำระให้ธนาคารนั้น ไม่ใช่วิสัยของผู้ประกอบอาชีพประเภทนี้ ประกอบกับไม่ปรากฏว่านายขมุนมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ฉันใดกับโจทก์จนถึงต้องยอมคิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว ฉะนั้นการอ้างคิดว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้นายขมุนเพราะความพอใจนั้นจึงฟังไม่ขึ้น และเมื่อโจทก์และสามีโจทก์ประกอบอาชีพค้าขาย ต้องใช้เงินทุนจากธนาคารการใช้เช็คเพื่อชำระหนี้ต่าง ๆ จึงเป็นความจำเป็นและความสะดวก อีกประการหนึ่งจำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ว่าหนังสือสัญญากู้ยืมมีการกรอกตัวเลขเพียง 20,000 บาท แต่เมื่อโจทก์นำมาฟ้องจำเลยทั้งสองกลับเป็นตัวเลข 120,000 บาท นั้น เมื่อคำนึงว่าเพียงการเขียนตัวเลข “1” เติมตรงข้างหน้าตัวเลข “20,000” ก็จะกลายเป็นตัวเลข “120,000” บาท เช่นนี้ ทำให้พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักรับฟังได้ดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์จ่ายเช็คตามสำเนาเช็คจำนวนเงิน 20,000 บาท เพื่อให้นายขมุนกู้ยืมเงิน โดยมีหนังสือสัญญากู้ยืมที่จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ระบุว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 20,000 บาท เป็นหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสือซึ่งจำเลยต้องรับผิด แม้ภายหลังโจทก์แก้ไขจำนวนเงินในสัญญากู้ให้สูงขึ้นเป็น 120,000 บาท ซึ่งไม่เป็นไปตามที่โจทก์และนายขมุนตกลงกัน แต่ก็ไม่ทำให้หลักฐานการกู้ยืมเงินที่ทำไว้แต่เดิมและมีผลสมบูรณ์ต้องเสียไป จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เท่าที่กู้ไปจริง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ส่วนฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share