คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1145/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ และมาตรา 26 วรรคหนึ่ง บัญญัติในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าวการที่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวโจทก์จึงสิ้นสิทธิฟ้องร้อง กรณีของโจทก์ขณะอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2534 เป็นกรณียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับและยังไม่ปรากฏว่าได้มีการพิจารณาแก้ไขราคาเบื้องต้นให้แก่ โจทก์ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้ก็ตาม แต่เมื่อประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ดังกล่าวไม่มีบทบังคับว่าการเวนคืนที่ยังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้มีผลใช้บังคับนั้น จะต้องมีการพิจารณาแก้ไขราคาอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินเสียใหม่ทุกกรณี และมาตรา 10 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ให้เป็นดุลพินิจของรัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีที่มีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 หรือคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 แก้ไขราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินเสียใหม่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติได้และให้ถือว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ที่แก้ไขแล้วเป็นราคาซื้อขายที่ตกลงกันใหม่แทนราคาเดิม และราคาเบื้องต้นที่แก้ไขแล้วเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 แล้วแต่กรณีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่ได้สั่งให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 แก้ไขราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินเสียใหม่ และไม่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 ให้แก้ไขราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินเสียใหม่จึงเป็นกรณีที่ไม่มีราคาเบื้องต้นที่แก้ไขใหม่ที่จะเป็นเหตุให้โจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้อีก ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ข้อ 1 ได้แก้ไขหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินจากเดิมซึ่งให้กำหนดโดยถือราคาตามมาตรา 21(2) หรือ (3) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าเป็นเกณฑ์ เป็นว่าให้กำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 ทั้งมาตรา และข้อ 5 ให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้น การจัดซื้อการจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วยนั้น หมายความว่า ในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้มีผลใช้บังคับนั้น การเวนคืนยังไม่เสร็จเด็ดขาด ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของคณะกรรมการตามมาตรา 9 รัฐมนตรี หรือศาลก็ให้ผู้พิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนในแต่ละขั้นตอนดังกล่าวกำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่แก้ไขใหม่นี้เท่านั้น หาทำให้เงินค่าทดแทนตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกลายเป็นการพิจารณาแก้ไขราคาเบื้องต้นไม่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44ไม่มีผลทำให้กำหนดระยะเวลาการใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงหนองบอน เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครพ.ศ. 2531 เพื่อใช้ประโยชน์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 81,034,620 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงิน 55,032,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 24,076,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 26,002,620 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ที่ว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องร้องภายในระยะเวลาหรือไม่ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 วรรคสองบัญญัติว่า ในการพิจารณาอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายและผู้มีความรู้ความสามารถในการตีราคาอสังหาริมทรัพย์มีจำนวนทั้งหมดไม่น้อยกว่าห้าคน เป็นผู้พิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี ทั้งนี้ให้รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์และมาตรา 26 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี ตามบทบัญญัติของมาตรา 25 วรรคสองประกอบมาตรา 26 วรรคหนึ่ง ได้วางหลักเกณฑ์ในการนำคดีมาฟ้องต่อศาล เมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีไว้ 2 กรณี กรณีแรกเป็นกรณีที่รัฐมนตรีวินิจฉัยอุทธรณ์เสร็จสิ้นใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์เมื่อผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีก็มีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับคำวินิจฉัยนั้น กรณีที่สองเป็นกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ กรณีเช่นนี้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันที่รัฐมนตรีได้รับอุทธรณ์ คดีนี้เป็นกรณีที่สองที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับอุทธรณ์ ดังนี้ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับคำอุทธรณ์ของโจทก์วันที่ 19 ธันวาคม 2533 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายใน60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์คือภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์2534 เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2534 โจทก์จึงต้องฟ้องคดีต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดเวลา 60 วันนับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับอุทธรณ์ของโจทก์คือต้องฟ้องคดีภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2535 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องวันที่ 25 เมษายน 2537 ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วดังนี้โจทก์จึงสิ้นสิทธิฟ้องร้อง
ที่โจทก์ฎีกาว่า กรณีของโจทก์ขณะที่อยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ให้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2534 จึงเป็นกรณียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับ และยังไม่ปรากฏว่าได้มีการพิจารณาแก้ไขราคาเบื้องต้นให้แก่โจทก์ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้ดังนั้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และรัฐมนตรีต้องอยู่ภายใต้กฎหมายซึ่งต้องพิจารณาแก้ไขราคาเบื้องต้นให้แก่โจทก์ตามประกาศฉบับนี้และเมื่อได้วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์ของโจทก์จึงเท่ากับเป็นการปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวในการพิจารณาแก้ไขราคาเบื้องต้นให้แก่โจทก์นั่นเอง และเมื่อจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ไปรับเงินค่าทดแทนเพิ่มตามเอกสารหมาย จ.14 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2536โจทก์ไม่จำเป็นต้องอุทธรณ์อีกแล้ว เพราะผู้วินิจฉัยค่าทดแทนเพิ่มเป็นผู้วินิจฉัยอุทธรณ์อยู่แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นฟ้องต่อศาลได้ทันทีภายใน 1 ปี ซึ่งโจทก์ได้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 25 เมษายน2537 ภายใน 1 ปีนับแต่วันได้รับแจ้งให้ไปรับค่าทดแทนเพิ่มคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เห็นว่า ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ไม่ได้มีบทบังคับว่าการเวนคืนที่ยังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้มีผลใช้บังคับนั้น จะต้องมีการพิจารณาแก้ไขราคาอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินเสียใหม่ทุกกรณีและมาตรา 10 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 ซึ่งเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ให้เป็นดุลพินิจของรัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีที่มีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 หรือคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 แก้ไขราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินเสียใหม่ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติได้ และให้ถือว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ที่แก้ไขแล้วเป็นราคาซื้อขายที่ตกลงกันใหม่แทนราคาเดิม และราคาเบื้องต้นที่แก้ไขแล้วเป็นราคาเบื้องต้นที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 9 แล้วแต่กรณี
คดีนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยไม่ได้สั่งให้คณะกรรมการตามมาตรา 9 แก้ไขราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินเสียใหม่และไม่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 9 ให้แก้ไขราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือราคาเบื้องต้นสำหรับที่ดินเสียใหม่ จึงเป็นกรณีที่ไม่มีราคาเบื้องต้นที่แก้ไขใหม่ที่จะเป็นเหตุให้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้อีกครั้งที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ฉบับที่ 44 ข้อ 1ได้แก้ไขหลักเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินจากเดิมซึ่งให้กำหนดโดยถือราคาตามมาตรา 21(2) หรือ (3) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 แล้วแต่ราคาใดจะสูงกว่าเป็นเกณฑ์มาเป็นว่า ให้กำหนดโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 ทั้งมาตรา และข้อ 5 ให้มีผลใช้บังคับแก่การเวนคืนซึ่งการกำหนดราคาเบื้องต้น การจัดซื้อ การจ่ายหรือการวางเงินค่าทดแทน การอุทธรณ์หรือการฟ้องคดียังไม่เสร็จเด็ดขาดในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับด้วยนั้น หมายความว่า ในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับนี้มีผลใช้บังคับนั้น การเวนคืนยังไม่เสร็จเด็ดขาดไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของคณะกรรมการตามมาตรา 9 รัฐมนตรีหรือศาลก็ให้ผู้พิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนในแต่ละขั้นตอนดังกล่าวกำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึงหลักเกณฑ์ที่แก้ไขใหม่นี้เท่านั้น หาทำให้เงินค่าทดแทนตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กลายเป็นการพิจารณาแก้ไขราคาเบื้องต้นดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ประกาศคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติฉบับที่ 44 ไม่มีผลทำให้กำหนดระยะเวลาการใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
พิพากษายืน

Share