แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ของตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 คือ ยานยนต์โดยสารสาธารณะซึ่งตามหมายเหตุของตอนที่ 87 หมายถึง ยานยนต์ที่ออกแบบสำหรับขนส่งผู้โดยสารตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป (รวมถึงคนขับ) ส่วนของตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.03 คือ รถยนต์และยานยนต์อื่น ๆ ที่ออกแบบสำหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก (นอกจากของตามประเภทที่ 87.02) รวมถึงรถสเตชั่นแวกอนและรถแข่ง เมื่อมีการดัดแปลงรถยนต์ที่มีที่นั่งน้อยกว่า 10 ที่นั่ง ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.03 อัตราอากรร้อยละ 80 ของราคาของ ให้เป็นรถยนต์ที่มีที่นั่งตั้งแต่ 10 ที่นั่งขึ้นไป เพื่อจะได้เสียอากรในอัตราร้อยละ 40 ของราคาของ ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 กรณีจึงมีปัญหาว่ารถยนต์ที่ดัดแปลงนั้นจะต้องมีสภาพอย่างไรจึงจะจัดเป็นสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 ซึ่งเสียภาษีน้อยกว่าถึง 1 เท่า อันเป็นปัญหาในการจำแนกประเภทพิกัดอัตราศุลกากร อธิบดีกรมศุลกากรของจำเลยย่อมอาศัยอำนาจตามมาตรา 15 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร ฯ ตีความในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 และประเภทที่ 87.03 ได้ การที่อธิบดีกรมศุลกากรออกประกาศ เรื่อง แจ้งพิกัดอัตราศุลกากร ป.อ.1/2544 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2544 กำหนดว่า รถยนต์ที่จะจัดเข้าพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 ต้องมีสภาพอย่างไรจึงเป็นการตีความโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 15 ดังกล่าว ประกาศดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย
ตามประกาศดังกล่าวรถยนต์ที่นำเข้าจะจัดเป็นรถยนต์ที่มีที่นั่งตั้งแต่ 10 ที่นั่งขึ้นไปตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 หรือไม่ ให้พิจารณาจาก Specification มาตรฐานใน Worldwide Catalog หรือ Product Literature ของโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศเป็นเกณฑ์ว่ามีขนาดจำนวนที่นั่งเท่าใด การนับจำนวนที่นั่งนั้นหากรถยนต์ที่นำเข้าติดตั้งที่นั่งมาทั้งหมดให้พิจารณาว่าที่นั่งที่ติดตั้งมานั้นยึดและติดตั้งบนจุดติดตั้งถาวร และสามารถนั่งได้ตามปกติวิสัยหรือไม่ ตามบทนิยามศัพท์คำว่า “นั่งได้ตามปกติวิสัย” หมายถึง สภาพที่นั่งมีความสะดวกสบายตามมาตรฐานโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศ (Original Specification) ที่ได้ออกแบบ (designed for) สำหรับรถยนต์ประเภทนั้น ๆ โดยพิจารณาจาก Worldwide Catalog หรือ Product Literature ของโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศ จึงเป็นการให้พิจารณาสภาพของในเวลาที่นำเข้า รถยนต์ที่โจทก์นำเข้ามีที่นั่ง 2 ที่นั่ง ที่มีขนาดเล็กกว่าที่นั่งที่เหลืออีก 9 ที่นั่ง เป็นการเล็กกว่าทั้งขนาดของเบาะที่นั่งและพนักพิงหลัง โดยเฉพาะพนักพิงหลังนั้นไม่มีที่รองรับศีรษะเหมือนที่นั่งที่เหลืออีก 9 ที่นั่ง หากเกิดอุบัติเหตุผู้โดยสารที่นั่งบนที่นั่งขนาดเล็ก 2 ที่นั่ง มีโอกาสที่จะได้รับอันตรายมากกว่าผู้โดยสารที่นั่งบนที่นั่งที่เหลือ 9 ที่นั่ง ยิ่งที่นั่งขนาดเล็ก 2 ที่นั่งไม่มีเข็มขัดนิรภัยเหมือนกับที่นั่งที่เหลืออีก 9 ที่นั่ง ยิ่งมีโอกาสได้รับอันตรายมากกว่า ฉะนั้น ที่นั่งขนาดเล็ก 2 ที่นั่ง จึงมิใช่ที่นั่งที่นั่งได้ตามปกติวิสัย แม้กรมการขนส่งทางบกจะรับจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวเป็นประเภทรถยนต์นั่งเกิน 7 คน (จำนวนที่นั่ง 11 คน) ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบกฯ มิใช่การปฏิบัติหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากรฯ ซึ่งเป็นกฎหมายคนละฉบับกันจึงไม่อาจนำการรับจดทะเบียนดังกล่าวมาใช้ยันจำเลยได้ เมื่อที่นั่งขนาดเล็ก 2 ที่นั่งมิใช่ที่นั่งที่นั่งได้ตามปกติวิสัย รถยนต์ดังกล่าวจึงเป็นรถยนต์ที่มีที่นั่งน้อยกว่า 10 ที่นั่ง เข้าลักษณะเป็นสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.03 อัตราอากรร้อยละ 80 ของราคาของ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวน 74,900,496.36 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน ของต้นเงินภาษีศุลกากรจำนวน 9,342,297 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ของต้นเงินภาษีสรรพสามิตและภาษีเพิ่มเพื่อมหาดไทย (ภาษีส่วนท้องถิ่น) จำนวน 47,028,296 บาท และของต้นเงินภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 3,945,964 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อมหาดไทย ภาษีมูลค่าเพิ่มให้โจทก์จำนวน 57,259,641 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันฟังได้ว่า ระหว่างวันที่ 10 มีนาคม 2544 ถึงวันที่ 13 เมษายน 2545 โจทก์นำเข้ารถยนต์ยี่ห้อ TOYOTA รุ่น GRANVIA จำนวน 38 คัน โดยสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าว่า เป็นสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.03 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 80 ของราคาของ และชำระอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพิ่มเพื่อมหาดไทย (ภาษีส่วนท้องถิ่น) และภาษีมูลค่าเพิ่ม และรับของไปแล้ว แต่โจทก์เห็นว่ารถยนต์นำเข้าทั้ง 38 คัน เป็นสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 40 ของราคาของ เพราะเป็นรถยนต์สำหรับขนส่งบุคคลตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป (รวมทั้งคนขับ) โดยมีที่นั่ง 11 ที่นั่ง มิใช่รถยนต์อื่นตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.03 อัตราอากรขาเข้าร้อยละ 80 ของราคาของ ตามประกาศกรมศุลกากร เรื่อง แจ้งพิกัดอัตราศุลกากร ป.อ.1/2544 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2544 โจทก์จึงชำระอากรขาเข้าเกินไป 9,342,297 บาท ภาษีสรรพสามิตเกินไป 42,752,976 บาท ภาษีเพิ่มเพื่อมหาดไทย (ภาษีส่วนท้องถิ่น) เกินไป 4,275,320 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มเกินไป 3,945,964 บาท โจทก์ขอคืนภาษีอากรดังกล่าวจากจำเลย แต่จำเลยไม่คืนให้โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินภาษีอากรให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 74,900,496.36 บาท และเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าสิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินภาษีศุลกากรตามใบขนสินค้าขาเข้าจำนวน 12 ใบขน ขาดอายุความแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า รถยนต์ที่โจทก์นำเข้าเป็นสินค้าอยู่ในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 หรือ 87.03 เห็นว่า ของตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 คือ ยานยนต์โดยสารสาธารณะ ซึ่งตามหมายเหตุของตอนที่ 87 หมายถึง ยานยนต์ที่ออกแบบสำหรับขนส่งผู้โดยสารตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป (รวมถึงคนขับ) ส่วนของตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.03 คือ รถยนต์และยานยนต์อื่น ๆ ที่ออกแบบสำหรับขนส่งบุคคลเป็นหลัก (นอกจากของตามประเภทที่ 87.02) รวมถึงสเตชั่นแวกอนและรถแข่ง เมื่อมีการดัดแปลงรถยนต์ที่มีที่นั่งน้อยกว่า 10 ที่นั่ง ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.03 อัตราอากรร้อยละ 80 ของราคาของ ให้เป็นรถยนต์ที่มีที่นั่งตั้งแต่ 10 ที่นั่งขึ้นไปเพื่อจะได้เสียอากรในอัตราร้อยละ 40 ของราคาของ ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 กรณีจึงมีปัญหาว่ารถยนต์ที่ดัดแปลงนั้นจะต้องมีสภาพอย่างไรจึงจะจัดเป็นสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 ซึ่งเสียภาษีน้อยกว่าถึง 1 เท่า อันเป็นปัญหาในการจำแนกประเภทพิกัดอัตราศุลกากร อธิบดีกรมศุลกากรของจำเลยย่อมอาศัยอำนาจตามมาตรา 15 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ตีความในพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 และประเภทที่ 87.03 ได้ การที่อธิบดีกรมศุลกากรออกประกาศ เรื่อง แจ้งพิกัดอัตราศุลกากร ป.อ.1/2544 ลงวันที่ 2 มีนาคม 2544 กำหนดว่า รถยนต์ที่จะจัดเข้าพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 ต้องมีสภาพอย่างไรจึงเป็นการตีความโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 15 ดังกล่าว ประกาศดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ตามประกาศดังกล่าวรถยนต์ที่นำเข้าจะจัดเป็นรถยนต์ที่มีที่นั่งตั้งแต่ 10 ที่นั่งขึ้นไป ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 หรือไม่ ให้พิจารณาจาก Specification มาตรฐานใน Worldwide Catalog หรือ Product Literature ของโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศเป็นเกณฑ์ว่ามีขนาดจำนวนที่นั่งเท่าใด การนับจำนวนที่นั่งนั้นหากรถยนต์ที่นำเข้าติดตั้งที่นั่งมาทั้งหมดให้พิจารณาว่าที่นั่งที่ติดตั้งมานั้นยึดและติดตั้งบนจุดติดตั้งถาวรและสามารถนั่งได้ตามปกติวิสัยหรือไม่ ตามบทนิยามศัพท์คำว่า “นั่งได้ตามปกติวิสัย” หมายถึง สภาพที่นั่งมีความสะดวกสบายตามมาตรฐานโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศ (Original specification) ที่ได้ออกแบบ (designed for) สำหรับรถยนต์ประเภทนั้น ๆ โดยพิจารณาจาก Worldwide Catalog หรือ Product Literature ของโรงงานผู้ผลิตในต่างประเทศ จึงเป็นการให้พิจารณาสภาพของในเวลาที่นำเข้า เมื่อพิเคราะห์ภาพถ่ายรถยนต์ที่โจทก์นำเข้าในคดีนี้แล้วเห็นได้ว่ามีที่นั่ง 2 ที่นั่งที่มีขนาดเล็กกว่าที่นั่งที่เหลืออีก 9 ที่นั่ง เป็นการเล็กกว่าทั้งขนาดของเบาะที่นั่งและพนักพิงหลัง โดยเฉพาะพนักพิงหลังนั้นไม่มีที่รองรับศีรษะเหมือนที่นั่งที่เหลืออีก 9 ที่นั่ง หากเกิดอุบัติเหตุผู้โดยสารที่นั่งบนที่นั่งขนาดเล็ก 2 ที่นั่ง มีโอกาสที่จะได้รับอันตรายมากกว่าผู้โดยสารที่นั่งบนที่นั่งที่เหลืออีก 9 ที่นั่ง ยิ่งที่นั่งขนาดเล็ก 2 ที่นั่ง ไม่มีเข็มขัดนิรภัยเหมือนกับที่นั่งที่เหลืออีก 9 ที่นั่ง ยิ่งมีโอกาสได้รับอันตรายมากกว่า ฉะนั้น ที่นั่งขนาดเล็ก 2 ที่นั่ง จึงมิใช่ที่นั่งที่นั่งได้ตามปกติวิสัย แม้กรมการขนส่งทางบกจะรับจดทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวเป็นประเภทรถยนต์นั่งเกิน 7 คน (จำนวนที่นั่ง 11 คน) ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มิใช่การปฏิบัติหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ซึ่งเป็นกฎหมายคนละฉบับกัน จึงไม่อาจนำการรับจดทะเบียนดังกล่าวมาใช้ยันจำเลยได้ เมื่อที่นั่งขนาดเล็ก 2 ที่นั่งมิใช่ที่นั่งที่นั่งได้ตามปกติวิสัย รถยนต์ดังกล่าวจึงเป็นรถยนต์ที่มีที่นั่งน้อยกว่า 10 ที่นั่ง เข้าลักษณะเป็นสินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.03 อัตราอากรร้อยละ 80 ของราคาของ มิใช่สินค้าตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.02 อัตราอากรร้อยละ 40 แต่อย่างใด การที่จำเลยเก็บภาษีอากรจากโจทก์ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทที่ 87.03 อัตราอากรร้อยละ 80 ของราคาของจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีอากรที่ได้ชำระไปแล้ว”
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์