คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4044/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินโจทก์โดยสุจริตหรือไม่ต้องดูเจตนาของจำเลย ถ้าขณะสร้างอาคารจำเลยเข้าใจว่า เป็นที่ดินของตนเองย่อมถือว่าจำเลยสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินโจทก์ โดยสุจริต พฤติการณ์ที่จำเลยได้สร้างอาคารอยู่ในรั้วคอนกรีตที่ได้ ครอบครองกันมาหลายปี ย่อมถือได้ว่าจำเลยไม่รู้ว่าตรงบริเวณ ที่จำเลยสร้างอาคารนั้นเป็นที่ดินของโจทก์ แม้ในขณะจำเลย สร้างอาคาร จำเลยยังมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และได้สร้างความกว้างของหน้าอาคารมากกว่าที่ขอไว้ตาม แบบแปลนและก่อนสร้างจำเลยจะมิได้ทำการรังวัดตรวจสอบ เขตที่ดินเมื่อไปพบหลักเขตก็ตาม ก็ยังไม่ถือว่าจำเลยกระทำ โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงซึ่งเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนตึกแถวพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินโจทก์ต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องขอให้จำเลยใช้ค่าที่ดินเป็นคดีใหม่ภายใต้อายุความเดิม
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 6744 ตำบลห้วยจรเข้ อำเภอเมือง(พระปฐมเจดีย์) จังหวัดนครปฐม (นครชัยศรี) เนื้อที่ 3 งาน92 ตารางวา เป็นของนายเฮง กียะฆาตุ ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.1 วันที่ 17 มิถุนายน 2528 ได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 6744 ออกเป็น 3 แปลง โดยแปลงแรกทางทิศตะวันตกเป็นของพันตรีวีระศักดิ์ วงศ์ยฤทธิ์ แปลงที่ 2 ถัดจากแปลงแรกมาทางทิศตะวันออกเป็นของนายพรชัย วงศ์ยฤทธิ์ เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 45755 ตำบลพระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม เนื้อที่ 1 งาน 9 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.4 แปลงที่ 3 ถัดจากแปลงที่ 2 มาทางทิศตะวันออกเป็นของนายอภิพันธ์หรือวีระพันธ์ วงศ์ยฤทธิ์ เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 45754 เนื้อที่ 1 งาน 11 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.3 ก่อนแบ่งแยกมีบ้านปลูกอยู่ 3 หลัง บ้านแต่ละหลังปลูกอยู่บนที่ดินที่แบ่งแยกแปลงละหลัง มีรั้วสังกะสีกั้นเป็นแนวเขตทั้ง 3 แปลง ต่อมาเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2529 นายพรชัย ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 45755 ของตนให้แก่จำเลย วันที่ 17 ธันวาคม 2529 นายอภิพันธ์ ได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 45754 ออกเป็น 2 แปลง ด้านทิศเหนือ 1 แปลง ด้านทิศใต้ 1 แปลง ตามสำเนาโฉนดที่ดิน เอกสารหมาย ล.3 วันที่ 22 ธันวาคม 2529 นายอภิพันธ์ ได้ขายที่ดินด้านทิศเหนือโฉนดที่ดินเลขที่ 48568 เนื้อที่ 72 ตารางวา ซึ่งแบ่งแยกออกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 45754 ให้แก่โจทก์ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.5 ส่วนที่ดินด้านทิศใต้โฉนดที่ดินเลขที่ 45754 ขายให้แก่นางจิราภรณ์ มงคลวิทย์ ในวันที่26 มกราคม 2530 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ล.3 ดังนั้นที่ดินโจทก์จำเลยจึงอยู่ติดต่อกันโดยที่ดินโจทก์ด้านทิศตะวันตกติดกับที่ดินจำเลยด้านทิศตะวันออกทางด้านที่ติดกับถนนเทศาตามรูปแผนที่หลังโฉนดที่เจ้าพนักงานที่ดินได้จัดทำขึ้นในการรังวัดจัดทำแผนที่พิพาทซึ่งระบุว่า ที่ดินโจทก์ตามโฉนดด้านทิศเหนือกว้าง 10.68 เมตร ที่ดินจำเลยตามโฉนดด้านทิศเหนือติดถนนเทศากว้าง 10.64 เมตร แต่ในการรังวัดทำแผนที่พิพาทดังกล่าวปรากฏว่ารังวัดแล้วที่ดินโจทก์มีเนื้อที่ 69 9/10 ตารางวา มีจำนวนเนื้อที่ดินน้อยกว่าที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดิน ส่วนที่ดินจำเลยรังวัดได้เนื้อที่ 1 งาน 9 3/10 ตารางวา มีเนื้อที่ดินมากกว่าที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดิน ตามแผนที่พิพาทที่เจ้าพนักงานได้จัดทำขึ้นในปี 2532 จำเลยได้รื้อรั้วสังกะสีและบ้านออกแล้วสร้างรั้วคอนกรีตแทนรั้วสังกะสี ต่อมาในปี 2535 จำเลยได้สร้างอาคารสูง 5 ชั้น ลงในที่ดินของจำเลยดังกล่าวเต็มเนื้อที่ดินโดยเว้นทางเดินติดถนนเทศาไว้ประมาณ 6.50 เมตร ศาลชั้นต้นได้เดินเผชิญสืบที่พิพาทได้วัดหมุดที่ 1 ติดถนนวงศ์ยฤทธิ์ และหมุดที่ 2 ตรงแนวกำแพงของตึกจำเลย (ด้านทิศเหนือเขตที่ดินโจทก์ติดถนนเทศา) กว้าง 10.27 เมตร วัดจากแนวกำแพงของจำเลยไปจดแนวกำแพงอีกด้านหนึ่งของบ้านจำเลย (ด้านทิศเหนือของที่ดินจำเลยติดถนนเทศา) วัดได้ 10.90 เมตร จากแนวกำแพงลึกเข้าไปจนถึงตัวอาคารตึกของจำเลยวัดได้ 5.50 เมตร ตัวอาคารด้านนี้มีความกว้าง 10.978 เมตร ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 17 กันยายน 2539 แนวกำแพงหรือรั้วคอนกรีตที่จำเลยสร้างขึ้นนั้นจึงกว้างกว่าความกว้างของที่ดินตามโฉนดที่ดินของจำเลย และตัวอาคารที่จำเลยสร้างก็กว้างกว่าความกว้างของแนวกำแพงด้วย จำเลยจึงปลูกสร้างอาคารรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยได้สร้างอาคารรุกล้ำที่ดินโจทก์โดยสุจริตหรือไม่ ในปัญหานี้จะต้องดูเจตนาของจำเลยว่าขณะสร้างอาคารจำเลยรู้หรือไม่ว่าที่ดินตรงบริเวณที่จำเลยสร้างอาคารรุกล้ำนั้นเป็นที่ดินของใคร ซึ่งถ้าจำเลยรู้ว่าเป็นที่ดินของโจทก์ถือว่าจำเลยสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินโจทก์โดยไม่สุจริต แต่ถ้าจำเลยเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองย่อมถือว่าจำเลยสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินโจทก์โดยสุจริต เมื่อปรากฏว่าโจทก์จำเลยต่างซื้อที่ดินมาโดยขณะนั้นมีรั้วสังกะสีกั้นเป็นแนวเขตที่ดินอยู่ก่อนแล้วและรั้วสังกะสีดังกล่าวนั้นก็มีอยู่ก่อนแบ่งแยกโฉนดให้แก่เจ้าของเดิมที่ขายให้แก่โจทก์จำเลย จึงน่าเชื่อว่าในการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเดิมออกเป็น 3 ส่วนครั้งแรกนั้น ได้มีการแบ่งแยกตามแนวรั้วสังกะสีเดิมที่ได้มีการครอบครองกันอยู่เพราะเนื้อที่ดินตามโฉนดที่ดินที่จำเลยซื้อมาจากนายพรชัยใกล้เคียงเนื้อที่ดินที่เจ้าพนักงานที่ดินได้รังวัดไว้ขณะทำแผนที่พิพาทโดยรังวัดได้เนื้อที่ดินมากกว่าที่ระบุไว้ในโฉนดที่ดินเพียง 3/10 ตารางวา ดังนั้นการที่เจ้าของเดิมก่อนขายให้แก่โจทก์จำเลยได้ครอบครองที่ดินของตนตามแนวรั้วสังกะสีตลอดมาจนขายให้แก่โจทก์จำเลย และโจทก์จำเลยต่างครอบครองที่ดินที่ซื้อมาตามแนวรั้วสังกะสีเดิมนั้นเป็นเวลานานหลายปีโดยโจทก์จำเลยต่างมิได้โต้แย้งว่าแนวรั้วสังกะสีเดิมมิใช่แนวเขตที่ดินย่อมแสดงโดยปริยายว่าโจทก์จำเลยต่างถือแนวรั้วสังกะสีเป็นแนวเขตที่ดินของตน เมื่อโจทก์จำเลยต่างยึดถือแนวรั้วสังกะสีเดิมเป็นแนวเขตที่ดิน การที่จำเลยได้รื้อรั้วสังกะสีเดิมและสร้างรั้วคอนกรีตลงตามแนวรั้วสังกะสีเดิม ต่อมาจำเลยได้สร้างอาคารภายในรั้วคอนกรีตตามที่จำเลยนำสืบและโจทก์ยอมรับในส่วนนี้ตามที่โจทก์ได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านไว้นั้น แม้ขณะที่จำเลยสร้างรั้วคอนกรีตโจทก์จะอ้างว่าไม่รู้ว่าจำเลยสร้างรุกล้ำที่ดินโจทก์หรือไม่นั้นก็ไม่เป็นเหตุให้ถือว่าโจทก์มิได้ยึดถือแนวรั้วสังกะสีเดิมเป็นแนวเขตที่ดิน เพราะไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้แสดงออกแต่อย่างใดว่าแนวรั้วสังกะสีเดิมมิใช่แนวเขตที่ดินแม้จะปรากฏว่าจำเลยได้สร้างรั้วคอนกรีตต่อจากฝาบ้านของโจทก์ก็ตามก็ปรากฏว่าจำเลยได้สร้างรั้วคอนกรีตตามแนวรั้วสังกะสีเดิมมิได้รุกล้ำแนวรั้วสังกะสีเดิม ทั้งตัวอาคารที่จำเลยสร้างนั้นก็อยู่ในรั้วคอนกรีตที่จำเลยสร้างดังนั้น พฤติการณ์ที่จำเลยได้สร้างอาคารอยู่ในรั้วคอนกรีตดังกล่าวตามที่ได้ครอบครองกันมาเป็นเวลาหลายปีนั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยไม่รู้ว่าตรงบริเวณที่จำเลยสร้างอาคารนั้นเป็นที่ดินของโจทก์ และดูจากเจตนาของจำเลยแล้วเชื่อว่าจำเลยเข้าใจว่าตรงบริเวณที่จำเลยสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินโจทก์นั้นเป็นที่ดินของจำเลย ย่อมถือว่าจำเลยได้สร้างอาคารรุกล้ำที่ดินโจทก์โดยสุจริต และแม้ว่าในขณะจำเลยสร้างอาคารดังกล่าวนั้นจำเลยยังมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และได้สร้างความกว้างของหน้าอาคารมากกว่าที่ขอไว้ตามแบบแปลนทั้งก่อนสร้างจำเลยจะมิได้ทำการรังวัดตรวจสอบเขตที่ดินก่อนสร้างเมื่อไม่พบหลักเขตก็ตาม ในกรณีเช่นนี้ยังไม่ถือว่าจำเลยกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงซึ่งเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2520/2535 ระหว่าง นายมงคล เอกรังษี โจทก์ นางสุดาภรณ์ ชยันต์นคร จำเลย และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6383/2539 ระหว่าง นายณรงค์ อาจริยะกุล กับพวก โจทก์บริษัทโอมาภักดีอพาร์ทเมนท์ จำกัด จำเลย ที่จำเลยอ้างนั้นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองเรื่องนั้นต่างกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ที่ศาลล่างทั้งสองยกฟ้องชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share