คำวินิจฉัยที่ 79/2563

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องกรมชลประทานซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.๓ ก) เลขที่ ๔๖๓๓ และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิอยู่ติดกัน ต่อมาสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ ๕ ซึ่งเป็นส่วนราชการของผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินการโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำทบ ครอบคลุมที่ดินส่วนที่มีเอกสารสิทธิและไม่มีเอกสารสิทธิของผู้ฟ้องคดี โดยคณะกรรมการจัดซื้อและกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินได้กำหนดราคาที่ดิน และมีการจ่ายค่าทดแทนให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการโครงการดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกำหนดค่าทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีไม่เพียงพอ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินค่าทดแทนและค่าขาดประโยชน์ พร้อมดอกเบี้ย และค่าเสียหายจากการก่อสร้างถนนลูกรังผ่านที่ดินผู้ฟ้องคดีระยะทางประมาณ ๔๐๐ เมตร ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำทบ มีการจ่ายเงินค่าทดแทนไปแล้วบางแปลง ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าราคาที่ดินตามที่คณะกรรมการฯกำหนดต่ำเกินไปจึงไม่สามารถตกลงกันได้ และผู้ฟ้องคดียินยอมให้ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างถนนเพื่อลำเลียงดินแล้วจึงไม่เป็นละเมิด ศาลปกครองอุดรธานีมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในส่วนที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินค่าทดแทนที่ดินและค่าขาดประโยชน์ไว้พิจารณา คดีจึงมีประเด็นเพียงว่าการที่ผู้ถูกฟ้องคดีก่อสร้างถนนลูกรังผ่านที่ดินของผู้ฟ้องคดี ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม เห็นว่า การฟ้องคดีเพื่อให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐรับผิดจากการกระทำละเมิดซึ่งจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ต้องเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีหรือจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือโจทก์อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร สำหรับเหตุในคดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีมีเพียงว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีโดยก่อสร้างถนนลูกรังผ่านที่ดินของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาการกระทำละเมิดตามฟ้องดังกล่าวเห็นได้ว่ามิได้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันจะเข้าหลักเกณฑ์ของมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share