คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3535/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 กำหนดสิทธิฟ้องคดีต่อศาลของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 ไว้เป็นการเฉพาะในมาตรา 26 วรรคแรก ซึ่งแสดงว่า ผู้ที่จะฟ้องคดีต่อศาลได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ไม่พอใจ คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 หรือในเมื่อรัฐมนตรี มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตาม มาตรา 25 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามมาตรา 18 จึงต้องดำเนินการตามมาตรา 25 วรรคแรก แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา 25 วรรคแรก เสียก่อน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล คำว่ามีสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 นั้น หมายความเพียงว่าเป็นสิทธิของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่จะอุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์ก็ได้แต่มิได้หมายความว่าโจทก์มีสิทธิ เลือกอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีหรือฟ้องคดีต่อศาลก็ได้ เพราะสิทธิการฟ้องคดีต่อศาลได้มีบัญญัติไว้แล้วในมาตรา 26

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าทดแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ จำนวน 2,170,500 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการของจำเลยที่ 1 ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งให้มารับเงินค่าทดแทน ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยมิได้ยื่นอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการของจำเลยที่ 1 ภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือให้มารับเงินค่าทดแทน ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาในข้อแรกว่า ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 25 บัญญัติว่าผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนผู้ใดไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรี โจทก์เห็นว่าคำว่ามีสิทธิอุทธรณ์นั้นหมายความว่าให้โจทก์เลือกดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด คือจะอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีหรือจะดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลเลยก็ได้นั้นศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530ซึ่งใช้บังคับในขณะเกิดกรณีพิพาทกำหนดสิทธิฟ้องคดีต่อศาลของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 ไว้เป็นการเฉพาะในมาตรา 26 วรรคแรกว่า “ในกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี” ซึ่งแสดงว่าผู้ที่จะฟ้องคดีต่อศาลได้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีตามมาตรา 25 หรือในเมื่อรัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 25 วรรคสอง ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 จึงต้องดำเนินการตามมาตรา 25 วรรคแรก ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามมาตรา 18 ผู้ใดไม่พอใจในราคาของอสังหาริมทรัพย์หรือจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการตามมาตรา 9หรือมาตรา 23 กำหนด มีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6 หรือรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับนั้นภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนดังกล่าว” แต่เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา 25 วรรคแรก เสียก่อน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนผู้ใดไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนมีสิทธิอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีซึ่งหมายความว่าโจทก์มีสิทธิเลือกดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดคือจะอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีหรือจะฟ้องคดีต่อศาลก็ได้นั้น เห็นว่าคำว่ามีสิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 25 นั้นหมายความเพียงว่า เป็นสิทธิของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่จะอุทธรณ์หรือไม่อุทธรณ์ก็ได้แต่มิได้หมายความว่าโจทก์มีสิทธิเลือกอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีหรือฟ้องคดีต่อศาลดังที่โจทก์ฎีกา เพราะสิทธิการฟ้องคดีต่อศาลได้มีบทบัญญัติไว้แล้วในมาตรา 26 ดังที่ศาลฎีกาวินิจฉัยมาแล้วฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share