แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง แต่ระหว่างฎีกาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนฟ้องเฉพาะความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงและให้จำหน่ายคดีในความผิดฐานดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และกำหนดโทษจำเลยทั้งสองในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก, 83 ดังนี้ หากจำเลยทั้งสองไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง โดยเห็นว่าศาลชั้นต้นต้องยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา จำเลยทั้งสองชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 แต่จำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น กลับฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 268, 341
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก, (ที่ถูก มาตรา 268 วรรคแรกประกอบมาตรา 264 วรรคแรก) 341 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
ระหว่างฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันได้แล้ว โจทก์ไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองอีกต่อไป ขอถอนคำฟ้อง จำเลยทั้งสองไม่ค้าน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดเกี่ยวกับเอกสารและฉ้อโกง เมื่อความผิดฐานฉ้อโกงเป็นความผิดต่อส่วนตัวและโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องก่อนคดีถึงที่สุด จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ส่วนความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมนั้น เป็นความผิดต่อแผ่นดินจึงไม่ระงับไปเพราะเหตุถอนฟ้อง และเนื่องจากศาลยังมิได้กำหนดโทษในข้อหาดังกล่าว จึงเห็นควรพิจารณาโทษเฉพาะข้อหาความผิดดังกล่าวอีกครั้งในคำพิพากษา ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่จำเลยทั้งสองเป็นผู้ร่วมกันปลอมเอกสารนั้นเอง ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก แต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 3,000 บาท พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า จำเลยทั้งสองตกลงที่จะผ่อนชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์จนเป็นที่พอใจแล้ว และโจทก์ไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองอีกต่อไป พฤติการณ์จึงไม่ร้ายแรง ประกอบกับจำเลยทั้งสองไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้ศาลฎีกากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก 341 ประกอบมาตรา 83 โดยให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ระหว่างฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนฟ้องเฉพาะความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงและให้จำหน่ายคดีในความผิดฐานดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ต่อมาศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำเลยทั้งสองในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ดังนี้ หากจำเลยทั้งสองไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงโดยเห็นว่าศาลชั้นต้นต้องยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา จำเลยทั้งสองชอบที่ใช้สิทธิอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 แต่จำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น กลับฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาจำเลยทั้งสอง