คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1142/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จำเลยพูดว่า “ตุ๊อย่าเอาไม้ไปแหย่ขี้เลย” ในขณะที่โจทก์กำลังโต้เถียงกับนายตุ๊สามีจำเลย เมื่อคณะผู้พิพากษาพร้อมด้วยโจทก์จำเลยในคดีแพ่งไปตรวจดูสถานที่พิพาทนั้นแม้คำว่า ขี้ จะหมายถึงตัวโจทก์ แต่ก็เป็นถ้อยคำเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพเท่านั้น ยังไม่พอถือได้ว่าเป็นการใส่ความตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา326 จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์
ส่วนเรื่องละเมิดอำนาจศาลนั้น เมื่อมีผู้กระทำผิด ก็เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะที่จะสั่งลงโทษผู้นั้นได้เองผู้อื่นหามีสิทธิที่จะเสนอคดีให้ศาลพิจารณาลงโทษผู้กระทำผิดในคดีเช่นนี้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กล่าวคำหมิ่นประมาทโจทก์ต่อบุคคลที่สามในขณะที่โจทก์โต้เถียงกับนายตุ๊สามีจำเลย เมื่อคณะผู้พิพากษา 2 นายพร้อมด้วยโจทก์จำเลยในคดีแพ่งไปตรวจดูสถานที่พิพาท โดยกล่าวว่า”ตุ๊ อย่าเอาไม้ไปแหย่ขี้เลย” อันทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และเป็นการละเมิดอำนาจศาลด้วย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31, 33

ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้ว สั่งประทับฟ้อง

จำเลยให้การรับว่า ได้กล่าวถ้อยคำตามฟ้องของโจทก์จริง เพราะโจทก์กับสามีจำเลยทะเลาะกัน จึงพูดห้ามปราม คำพูดดังกล่าวไม่เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทโจทก์ และไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาล

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393 ให้ลงโทษตามมาตรา 326 ซึ่งเป็นบทหนัก คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสาม แล้วคงปรับ 100 บาท คำขออื่นให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำคุก และขอให้ลงโทษในข้อหาละเมิดอำนาจศาลด้วย

จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ขี้ ที่จำเลยพูดนั้นหมายถึงเรื่องที่บิดามารดาโจทก์แพ้คดีนายชม จำเลยจึงห้ามมิให้สามีจำเลยไปเกี่ยวข้องไม่ได้หมายถึงตัวโจทก์ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยใส่ความหรือดูหมิ่นว่าโจทก์เป็นขี้ดังฟ้อง ส่วนความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลนั้น โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษาแก้ เป็นให้ยกข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 393 เสียด้วย คืนค่าปรับ อุทธรณ์โจทก์ให้ยก

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คดีมีปัญหาว่า การที่จำเลยพูดเช่นนี้ เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่ ส่วนเป็นการดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือไม่นั้นไม่มีประเด็น เพราะโจทก์ไม่ฎีกาในข้อนี้ และวินิจฉัยว่า แม้คำว่า “ขี้” ในคำพูดของจำเลยจะหมายถึงตัวโจทก์ตามที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงถ้อยคำเปรียบเทียบที่ไม่สุภาพ ยังไม่พอถือได้ว่าเป็นการใส่ความตามความหมายในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ ส่วนเรื่องละเมิดอำนาจศาลนั้น เมื่อมีผู้กระทำผิด ก็เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะที่จะสั่งลงโทษผู้นั้นได้เองตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33ผู้อื่นหามีสิทธิที่จะเสนอคดีให้ศาลพิจารณาลงโทษผู้กระทำผิดในคดีเช่นนี้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานนี้นั้นชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share