แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 5 กันยายน 2483 และ 20 ธันวาคม2483 นั้น หาได้รับรองให้คนต่างด้าวผู้อพยพเข้ามาตามประกาศได้มีสัญชาติเป็นไทยไม่ เมื่อคนต่างด้าวผู้อพยพเข้ามานั้นถูกส่งตัวออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วกลับหลบเข้ามาอีกก็ย่อมมีความผิดตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2493 มาตรา 21,58
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติและสัญชาติเขมรและเป็นคนที่ทางการประเทศไทยไม่พึงประสงค์จะให้อยู่ในประเทศได้ส่งตัวออกไปนอกราชอาณาจักรไทย 2 ครั้งแล้ว จำเลยได้บังอาจเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยมิได้รับอนุญาตและมิได้ผ่านการตรวจของเจ้าหน้าที่ขอให้ลงโทษ
จำเลยให้การว่าเป็นคนสัญชาติไทย เกิดที่จังหวัดพระตะบองแม่เป็นไทย บิดาเป็นเขมร
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยเป็นคนเชื้อชาติเขมร สัญชาติเขมรได้อพยพเข้ามาในประเทศไทย ตามคำชักชวนของประเทศไทยเมื่อกุมภาพันธ์ 2483 จำเลยจึงได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติอย่างคนต่างด้าว และรัฐบาลถือว่าเป็นคนเชื้อชาติไทย สัญชาติฝรั่งเศสโดยเหตุนี้จำเลยจึงเป็นคนไทยไม่ใช่ต่างด้าวตั้งแต่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยแล้วมีสิทธิอยู่ในประเทศไทยอย่างคนไทยทุกประการพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยเป็นคนต่างด้าวจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 มาตรา 21, 58 จำคุก 60 วันเพิ่มโทษตามกฎหมายอาญา มาตรา 72 อีก 1 ใน 3 รวมจำคุก 80 วัน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่าจำเลยมีเชื้อชาติเขมร เกิดที่จังหวัดพระตะบองบิดาเป็นเขมร ดังนั้นจำเลยจึงเป็นคนต่างด้าว แม้จำเลยจะอพยพเข้ามาในประเทศไทยตามประกาศชักชวนของกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 5 กันยายน 2483 และ 20 ธันวาคม 2483 ก็ตาม ก็ยังคงเป็นคนต่างด้าวอยู่เพราะประกาศทั้ง 2 ฉบับเป็นเรื่องผ่อนผันให้ไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองบางมาตราเท่านั้น หาได้รับรองให้มีสัญชาติไทยไม่ อนึ่งประกาศนั้นผ่อนผันเฉพาะคนเชื้อชาติไทยเท่านั้นจำเลยเป็นคนเชื้อชาติเขมรมิใช่คนที่ได้รับยกเว้น จำเลยเป็นคนต่างด้าวหลบเข้ามาในราชอาณาจักร จึงต้องผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 มาตรา 21, 58 พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์