คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1137/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ร้องอ้างในคำร้องว่า การดำเนินการทำหนังสือขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญไม่ได้ส่งไปยังผู้ถือหุ้นทุกคน ตัวแทนหรือผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นไม่มีสิทธิเสนอวาระและแสดงความคิดเห็นผู้ถือหุ้นและตัวแทนผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสียไม่มีสิทธิลงมติ จำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นที่ลงมติน้อยกว่า 1 ใน 3 ของหุ้นบริษัท การลงมติให้เลิกและขายกิจการบริษัทต้องกระทำโดยมติที่ประชุมใหญ่ การลงมติขัดต่อข้อบังคับและกฎหมายขอให้เพิกถอนมติเป็นเรื่องที่อ้างว่าการเรียกประชุมหรือการประชุมและการลงมติของที่ประชุมได้กระทำไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 ซึ่งจะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมตินั้น

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า บริษัทองค์วิศิษฐ์ จำกัด เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายผู้ร้องถือหุ้นอยู่จำนวน 125 หุ้น นายเฉลิมชัยองค์วิศิษฐ์ สามีของผู้ร้องถือหุ้นอยู่จำนวน 330 หุ้น ต่อมานายเฉลิมชัยสามีของผู้ร้องถูกยิงถึงแก่ความตายผู้ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 4 คน ได้ร่วมกันทำคำร้องเป็นหนังสือยื่นต่อกรรมการของบริษัทให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้น และได้มีการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นโดยมีผู้ถือหุ้น 2 คน และตัวแทนผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้น 3คน เข้าร่วมประชุม ก่อนเริ่มประชุมตามระเบียบวาระ ผู้รับมอบฉันทะจากนางสาวเหมวดี องค์วิศิษฐ์ผู้ถือหุ้น คัดค้านในที่ประชุมว่าการประชุมครั้งนี้ไม่ได้แจ้งให้ผู้ถือหุ้นทุกรายรวมทั้งทายาทของผู้ถือหุ้นซึ่งเสียชีวิตทราบ และการประชุมวิสามัญจะต้องเสนอต่อคณะกรรมการของบริษัทและคณะกรรมการเป็นผู้เรียกประชุมกับจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของบริษัทด้วย แต่นางวันทนีย์ ยวงสวัสดิ์ซึ่งเป็นประธานที่ประชุมแจ้งว่า การประชุมดังกล่าวได้กระทำตามข้อบังคับของบริษัทและหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแล้วและได้ดำเนินการประชุมต่อไป โดยได้ลงมติตั้งนางวันทนีย์เป็นกรรมการบริษัทแทนนายเฉลิมชัยสามีของผู้ร้อง ลงมติเพิ่มจำนวนกรรมการอีกหนึ่งคนคือนางสาวนิภาภรณ์ องค์วิศิษฐ์ โดยบุคคลซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในมติดังกล่าวได้ร่วมลงคะแนนด้วย และคะแนนเสียงมีจำนวนหุ้นไม่เพียงพอ ลงมติเปลี่ยนแปลงอำนาจของกรรมการ ซึ่งเป็นการลงมติของผู้มีส่วนได้เสียและสมยอมกัน ลงมติให้เลิกบริษัทและขายกิจการของบริษัทโดยมิได้ใช้มติพิเศษแต่เป็นมติของที่ประชุมดังกล่าวและลงมติให้สอบสวนดำเนินคดีเรื่องรถยนต์โดยผู้รับมอบฉันทะจากแพทย์หญิงอุราภรณ์ ภานุภาค ผู้ถือหุ้น ไม่มีสิทธิเสนอเป็นการขัดต่อข้อบังคับและกฎหมาย และได้มีการนำมติดังกล่าวไปจดทะเบียนซึ่งนายทะเบียนได้รับจดให้ จึงขอให้มีคำสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทและมีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนของบริษัทให้ถูกต้องตามเดิม
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า การประชุมใหญ่วิสามัญของบริษัทนั้นถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับของบริษัท ผู้คัดค้านนำมติดังกล่าวไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกระทรวงพาณิชย์แล้วโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน ผู้ร้องมีสิทธิคัดค้านให้ศาลเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสียภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันลงมติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 แต่ผู้ร้องไม่ดำเนินการดังกล่าวจนพ้นกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าว ไม่มีกฎหมายบังคับว่าผู้เข้าร่วมประชุมคนใดคัดค้าน การประชุมดังกล่าวจะดำเนินการประชุมต่อไปไม่ได้ ดังนั้นเมื่อประธานที่ประชุมและผู้ถือหุ้นเสียงข้างมากให้ประชุมต่อไปได้ มติที่ประชุมดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย ทั้งไม่มีกฎหมายจำกัดอำนาจของผู้รับมอบฉันทะ ดังนั้นผู้รับมอบฉันทะก็ย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องต่าง ๆ ต่อที่ประชุมได้ นางวันทนีย์ และนางสาวนิภาภรณ์ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในการลงมติตั้งตนเองเป็นกรรมการ จึงเข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงมติได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1185 ตามมติที่ประชุมให้ขายกิจการของบริษัทไม่ได้ลงมติให้เลิกบริษัทมติดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องสืบพยาน จึงให้งดสืบพยานผู้ร้องและพยานผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่ากรณีตามคำร้องของผู้ร้อง อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 ที่จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมตินั้นหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องอ้างในคำร้องว่า การดำเนินการทำหนังสือขอให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2532 เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2532 ของบริษัทองค์วิศิษฐ์จำกัด ตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 9 โดยทำหนังสือเชิญประชุมตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 10 นั้น ไม่ได้ส่งไปยังผู้ถือหุ้นทุกคน ตัวแทนหรือผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นไม่มีสิทธิเสนอวาระและแสดงความคิดเห็น ผู้ถือหุ้นและตัวแทนผู้รับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสียไม่มีสิทธิลงมติในเรื่องนั้น ๆ จำนวนหุ้นของผู้ถือหุ้นที่ลงมติน้อยกว่า 1 ใน 3 ของหุ้นบริษัทการลงมติให้เลิกบริษัทและขายกิจการของบริษัทนั้น ต้องกระทำโดยมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นไม่ใช่ทำโดยมติที่ประชุมสามัญ การประชุมลงมติต่าง ๆ ของที่ประชุมดังกล่าว เป็นการสมคบและสมยอมกันโดยไม่สุจริต ขัดต่อข้อบังคับของบริษัทและขัดต่อกฎหมายทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทและผู้ถือหุ้นอื่น ๆ และการที่นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครยอมรับจดทะเบียนมีคำสั่งรับจดทะเบียนให้ตามมติดังกล่าวจึงไม่ชอบโดยมีคำขอท้ายคำร้องให้เพิกถอนมติดังกล่าวเสียทุกเรื่องกับให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนนั้นเสียใหม่ให้ถูกต้องตามเดิมกรณีตามคำร้องของผู้ร้อง จึงเป็นเรื่องที่อ้างว่าการเรียกประชุมหรือการประชุมและการลงมติของที่ประชุมตามคำร้อง ได้กระทำไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 ซึ่งจะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันลงมตินั้น เมื่อผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องขอเสียในกำหนดดังกล่าวจึงหมดสิทธิที่จะร้องขอต่อศาลแล้วที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share