คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1135/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การประกันภัยเป็นนิติกรรมในลักษณะประเภทของสัญญาอย่างหนึ่งเรียกว่าสัญญาประกันภัย ซึ่งเป็นผลให้เกิดนิติสัมพันธ์อันพึงต้องปฏิบัติระหว่างกันของคู่สัญญา แม้ตามกฎหมายจะบังคับว่า การทำสัญญาประกันภัยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือก็เป็นเพียงบทบัญญัติใช้บังคับเฉพาะแก่คู่สัญญาที่ได้มีการทำกันขึ้นเท่านั้นหามีผลผูกพันให้ใช้แก่บุคคลภายนอกไม่ พ. เป็นผู้เสียหายและเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้เป็นคู่สัญญา จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งบทกฎหมายที่ต้องนำพยานเอกสารมาแสดง
ผู้เช่าซื้อรถยนต์ที่ชำระค่าเช่าซื้อยังไม่ครบและกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังไม่โอนมาเป็นของผู้เช่าซื้อในขณะนั้นก็ตามแต่ผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิที่จะใช้รถยนต์ดังกล่าวหาประโยชน์ได้โดยชอบอีกทั้งยังมีหน้าที่ต้องดูแลรักษารถยนต์ดังกล่าวให้อยู่ในสภาพให้ใช้การได้ดีตลอดไปเมื่อได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้วกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมตกมาเป็นของผู้เช่าซื้อ หรือถ้าหากมีการเลิกสัญญาผู้เช่าซื้อก็มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อในสภาพเดิมเมื่อมีการทำละเมิดเกิดความเสียหายแก่รถยนต์ดังกล่าวผู้เช่าซื้อจึงอยู่ในฐานะที่จะต้องเรียกค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ได้ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน น.ย.02127 โจทก์ที่ 2 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเจ้าของครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน พ.บ.06277 ร่วมกันและเป็นนายจ้างของนายชนิตย์ จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2519 นายชนิตย์ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ด้วยความประมาท ขับด้วยความเร็วสูง และขับล้ำเส้นกึ่งกลางถนนเข้าไปในช่องของรถที่จะแล่นสวนทางมาได้พุ่งเข้าชนรถยนต์ของโจทก์ที่ 1 โดยแรงได้รับความเสียหาย โจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าลากและซ่อมรถให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 13,500 บาท โจทก์ที่ 1 ต้องเสียค่าเช่ารถอื่นมาใช้ 25 วัน เป็นเงิน 15,000 บาท รถเสื่อมสภาพคิดเป็นเงิน 20,000 บาทและค่าเสียหายส่วนแรกที่โจทก์ที่ 1 ต้องออกตามสัญญาประกันภัย 500 บาท รวมเป็นค่าเสียหายของโจทก์ที่ 1 35,500 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในฐานะนายจ้างในผลแห่งการละเมิดของนายชนิตย์ส่วนจำเลยที่ 3 ต้องร่วมชดใช้ค่าเสียหายในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขอให้ศาลพิพากษาบังคับ

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน พ.บ.06277 ได้ขายไปก่อนหน้าเกิดเหตุแล้ว

จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.บ.02127 และโจทก์ที่ 2 ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว เหตุที่รถชนกันเพราะความประมาทของคนขับรถของฝ่ายโจทก์ รถเสียหายเล็กน้อยซ่อม 7 วันเสร็จค่าซ่อมไม่เกิน 1,500 บาท ซ่อมแล้วไม่เสื่อมราคา ค่าเช่ารถอื่นมาใช้เสียค่าเช่าเพียงวันละ 50 บาท จำเลยที่ 3 ไม่ได้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน พ.บ.06277

ระหว่างพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 25,500 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 13,50 บาท

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายเป็นข้อแรกว่า ความรับผิดของผู้รับประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 บังคับให้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ มิฉะนั้นจะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ การที่ศาลล่างทั้งสองฟังเพียงเฉพาะแต่การนำสืบด้วยพยานบุคคลของโจทก์โดยลำพังแล้ววินิจฉัย เชื่อว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน พ.บ.06277 เป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การประกันภัยเป็นนิติกรรมในลักษณะประเภทของสัญญาอย่างหนึ่งเรียกว่าสัญญาประกันภัย ซึ่งเป็นผลให้เกิดนิติสัมพันธ์อันพึงต้องปฏิบัติระหว่างกันของคู่สัญญา แม้ตามกฎหมายจะบังคับว่าการทำสัญญาประกันภัยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ก็เป็นเพียงบทบัญญัติใช้บังคับเฉพาะแก่คู่สัญญาที่ได้มีการทำกันขึ้นเท่านั้น หามีผลผูกพันให้ใช้แก่บุคคลภายนอกไม่ โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายและเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้เป็นคู่สัญญา จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งบทกฎหมายที่ต้องนำพยานเอกสารมาแสดง การนำสืบและการรับฟังพยานของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94

จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อกฎหมายในข้อต่อมาว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเพียงผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน น.ย.02127 มิได้เป็นเจ้าของ จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสื่อมราคาและค่าขาดผลประโยชน์จากการใช้รถ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุโจทก์ที่ 1 เช่าซื้อรถคันพิพาทมาจากร้านศรีมงคลนครนายก ดังนั้นแม้รถยนต์ดังกล่าวยังไม่ได้โอนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 ในขณะนั้นก็ตาม แต่โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิที่จะใช้รถยนต์คันที่เช่าซื้อมานั้นหาประโยชน์ตนได้โดยชอบ อีกทั้งยังมีหน้าที่ต้องดูแลรักษารถยนต์คันนี้ให้อยู่ในสภาพให้ใช้การได้ดีตลอดไป เมื่อได้ชำระเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนตามสัญญาแล้ว กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมตกมาเป็นของโจทก์ที่ 1 หรือถ้าหากจะมีการเลิกสัญญา โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้เช่าซื้อก็มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อในสภาพเดิม ดังนั้นเมื่อมีการทำละเมิดเกิดความเสียหายแก่รถยนต์คันดังกล่าว โจทก์ที่ 1 จึงอยู่ในฐานะที่จะต้องเรียกค่าสินไหมทดแทน รวมทั้งค่าเสื่อมราคาของรถได้ด้วย

พิพากษายืน

Share