แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟ้องหาว่าจำเลยกระทำผิดฐานแจ้งความเท็จนั้น แม้จะไม่ได้กล่าวว่าความจริงเป็นอย่างไร แต่เมื่อพิจารณาคำฟ้องโดยตลอดแล้ว เป็นอันเข้าใจได้ว่า ความจริงมีอย่างใดแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกล่าวว่าความจริงเป็นอย่างไรอีก เพราะเป็นอันเข้าใจได้อยู่แล้ว นับว่าเป็นฟ้องที่ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานแจ้งความเท็จโดยกล่าวว่า โจทก์ได้เช่าที่ดินรัฐบาล 1 แปลง จากคณะกรมการอำเภอประจันตะคามมีสัญญาผูกมัดโจทก์ว่า ถ้าโจทก์ให้ผู้อื่นเช่าช่วงที่ดินนั้นทั้งหมดหรือบางส่วน รัฐบาลจะบอกเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์ทันที ครั้นวันที่ 19 มิถุนายน 2491 จำเลยในคดีนี้ได้บังอาจนำเอาความที่จำเลยรู้อยู่ว่าเป็นความเท็จไปแจ้งแก่นายประสิทธิ สงวนน้อย นายอำเภอประจันตะคาม ซึ่งเป็นคณะกรมการอำเภอว่า โจทก์ได้เอาที่ดินรายนี้บางส่วนให้จำเลยเช่าช่วง การกระทำของจำเลยอาจก่อให้โจทก์เสียหายโดยโจทก์อาจถูกบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินได้
จำเลยต่อสู้ว่าที่จำเลยบอกนายอำเภอเป็นความจริง
ศาลชั้นต้นเชื่อว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวแก่นายอำเภอเป็นความจริง อีกอย่างหนึ่งฟ้องของโจทก์ไม่ได้กล่าวว่าความจริงเป็นอย่างไร ขาดสาระสำคัญแห่งองค์ความผิด พิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวยืนยันถึงความที่ถูกที่จริงว่าเป็นอย่างไร เป็นฟ้องที่ไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงจึงพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์เมื่อพิจารณาประกอบกันแล้วเป็นอันเข้าใจได้แล้วว่าโจทก์ถือว่าความจริงโจทก์ไม่ได้ให้จำเลยเช่าช่วงที่ดินนั้นแต่อย่างใด ข้อความที่จำเลยไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานนั้นจึงเป็นเท็จ ทำให้โจทก์เสียหายโดยอาจถูกเลิกสัญญาเช่า ส่วนข้อที่ว่า จะเป็นความเท็จอย่างไรหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องพิจารณากันต่อไป ดังนั้นฟ้องในคดีนี้จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวว่าความจริงเป็นอย่างไรอีก เพราะเป็นอันเข้าใจได้อยู่แล้ว พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาใหม่ตามรูปความ