คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1131/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อปรากฎว่าเงินทุนสงเคราะห์ (ท.ส.+.) ของผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟ เป็นเงินที่เก็บจากผู้ปฎิบัติงานร้อยละ 5 ของเงินเดือนทุกเดือน และการรถไฟจ่ายสมทบอีกมีจำนวนร้อยละ 10 ถ้าผู้ปฏิบัติงานต้องออกจากงาน นอกจากถูกไล่ออกก็ให้จ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานรวมทั้งดอกเบี้ยและกองทุนจ่ายเพิ่มให้อีกเป็นจำนวนเท่ากันนั้น เห็นได้ว่าเงินทุนสงเคราะห์นี้เป็นเงินที่ผู้ปฎิบัติงานมีสิทธิได้รับอยู่ก่อนแล้ว หากผู้นั้นตายลงก็ย่อมตกเป็นมรดก
แม้จะระบุในสมุดประวัติ (ท.ส.ค) ให้จำเลยเป็นผู้รับเงินทุนสงเคราะห์ก็ดี แต่หากต่อมาภายหลังเจ้าของเงินทุนสงเคราะห์ทำพินัยกรรมระบุยกให้โจทก์เป็นผู้รับ ก็เป็นการตัดจำเลยไปตามพินัยกรรมนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายเปล่งรับราชการกรมรถไฟ เป็นสมาชิกฌาปนกิจสังกัดสาขา วมช.(วิศวการช่างโยธา) ชุมพร โจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของนายเปล่ง จำเลย เป็นภริยานายเปล่ง แต่ไม่มีบุตร เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ นายเปล่งทำพินัยกรรมว่า เงินฌาปนกิจที่จะได้รับจากทางการรถไฟให้ได้แก่โจทก์ จำเลยเท่า ๆ กัน ส่วนเงินทุนสะสม (ท.ส.ค.) รวมทั้งดอกเบี้ยและเงินเพิ่มอีก ๑ เท่า กับเงินช่วยทำศพอีก ๓ เดือน ให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์แต่ผู้เดียว วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ นายเปล่งตาย โจทก์ขอรับเงินส่วนที่โจทก์มีสิทธิตามพินัยกรรมจากทางการรถไฟ จำเลยคัดค้านว่า ผู้ตายให้จำเลยมีสิทธิได้รับเงินฌาปนกิจทั้งหมดเป็นเหตุให้คณะกรรมการอำนวยการฌาปนกิจขัดข้องไม่จ่ายเงินให้โจทก์ จึงขอให้พิพากษาว่า โจทก์จำเลยต่างมีสิทธิได้รับเงินฌาปนกิจของผู้ตายตามพินัยกรรมเท่า ๆ กัน โดยโจทก์ได้ ๑๓,๕๐๐ บาท กับให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินทุนสะสมกับเงินอย่างอื่นตามพินัยกรรมอีก ๕,๐๐๐ บาท
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิรับเงินฌาปนกิจกับเงินทุนสำหรับจ่ายสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟพร้อมด้วยดอกเบี้ย และเงินเพิ่มอีก ๑ เท่า กับเงินช่วยทำศพตามระเบียบตามที่นายเปล่งระบุไว้แต่ผู้เดียว ระเบียบการและข้อบังคับมีให้ถือว่าเงินเหล่านี้เป็นมรดก พินัยกรรมเป็นโมฆะเพราะทำขณะนายเปล่งป่วยหนัก ไม่มีความสามารถและขาดเจตนาที่จะทำ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าเงินช่วยฌาปนกิจไม่เป็นมรดก เงินทุนสงเคราะห์ระบุให้จ่ายแก่ นางเจียน ย่อมตัดโจทก์ซึ่งเป็นทายาทตามพินัยกรรม และนายเปล่งผู้ตายไม่สามารถแสดงเจตนาทำพินัยกรรมได้ พินัยกรรมจึงไม่มีผลตามกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า มีพยานโจทก์รู้เห็นและลงชื่อในพินัยกรรม พินัยกรรมจึงใช้ได้ตามกฎหมาย อุทธรณ์ข้อนี้ฟังขึ้น
เงินฌาปนกิจเป็นเงินที่จ่ายเพื่อช่วยเหลือในการทำศพผู้ตาย หาใช่เงินที่ผู้ตายมีสิทธิที่จะรับไม่ เงินนี้จึงไม่ใช่มรดกของผู้ตาย และเงินช่วยทำศพ ๓ เดือน ก็ไม่ใช่ทรัพย์สินอันเป็นมรดกของนายเปล่ง ส่วนเงินทุนสงเคราะห์เป็นเงินที่ผู้ตายมีสิทธิจะได้รับตามขอบังคับอยู่ก่อนตายแล้ว และเป็นเงินของผู้ตายจึงเป็นมรดกของผู้ตาย ผู้ตายจะเอาทำพินัยกรรมให้แก่ผู้ใดก็ได้ จึงพิพากษาแก้ว่า โจทก์มีสิทธิรับเงินทุนสงเคราะห์ของนายเปล่ง รวมทั้งดอกเบี้ยและเงินกองทุนจ่ายเพิ่ม นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พินัยกรรมใช้ได้ตามกฎหมาย ส่วนเงินทุนสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการรถไฟ (ท.ส.ค.)นั้น เป็นเงินที่เก็บจากผู้ปฏิบัติงานเป็นรายเดือน ร้อยละ ๕ ของเงินเดือนทุกเดือน และการรถไฟจ่ายสมทบปลีกอีกมีจำนวนร้อยละ ๑๐ จึงเป็นเงินที่เก็บไปจากเงินเดือนของผู้ปฏิบัติงานส่วนหนึ่ง การรถไฟสมทบให้แก่ผู้ปฏิบัติงานอีกส่วนหนึ่ง และเงินนี้ตามข้อ ๑๑ แห่งข้อบังคับระบุว่า ถ้าผู้ปฏิบัติงานต้องออกจากงานนอกจากถูกไล่ออกก็ให้จ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งดอกเบี้ยและกองทุนจ่ายเพิ่มให้อีกเป็นจำนวนเท่ากัน แต่ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานถึงแก่กรรม จึงให้จ่ายแก่ผู้ที่ผู้ปฏิบัติงานได้ระบุไว้ หรือถ้าไม่ได้ระบุไว้ก็ให้จ่ายแก่ผู้จัดการมรดก ทายาทโดยธรรมหรือทายาทโดยพินัยกรรมแล้วแต่กรณี เงินทุนสงเคราะห์นี้จึงเป็นเงินที่ผู้ตายมีสิทธิจะได้รับตามข้อบังคับอยู่ก่อนแล้ว กล่าวคือ เป็นเงินของนายเปล่งที่หักจากเงินเดือนสมทบทุนร้อยละ ๕ ของเงินเดือนจึงเป็นทรัพย์สินอันถือได้ว่าเป็นทรัพย์ของกองมรดกนายเปล่งผู้ตาย ผู้ตายย่อมทำพินัยกรรมยกให้แก่ผู้ใดก็ได้ แม้ชั้นแรกผู้ตายจะระบุไว้ในสมุดประวัติ (ท.ส.ค.) ให้จำเลยเป็นผู้รับก็ดี แต่ภายหลังก็ได้มีพินัยกรรมที่ผู้ตายทำไว้ ระบุยกให้โจทก์เป็นผู้ได้รับ จึงเป็นการตัดจำเลยไปตามพินัยกรรมนั้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินจำนวนนี้ ตามพินัยกรรม ฎีกาจำเลยยังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share