แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
วัดจำเลยที่ 1 ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ศ. มีหน้าที่ดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด การที่ ศ. ลงชื่อในสัญญาก่อสร้างตึกแถว โดยมีจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสของจำเลยที่ 1 ลงชื่อรับทราบไว้ท้ายสัญญาเพื่อให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างตึกแถวนั้น จึงเป็นการจัดการศาสนสมบัติของวัดแล้ว กรณีไม่จำต้องทำหนังสือมอบอำนาจเป็นการเฉพาะเรื่องอีก
ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2ฯ ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯข้อ 2 ระบุว่า การกันที่ดินซึ่งเป็นที่วัดให้เป็นที่จัดประโยชน์จะทำได้ต่อเมื่อกรมการศาสนาเห็นชอบและได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม และข้อ 4 ระบุว่า การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา หรือที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ที่มีกำหนดเช่าเกิน 3 ปีจะทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนา ดังนี้ แม้สัญญาก่อสร้างตึกแถวจะไม่ใช่สัญญาเช่าโดยตรง แต่เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขในอนาคต เพราะขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่ได้ปลูกสร้างอาคาร แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 มีผลเห็นได้ในอนาคตว่าหากโจทก์ปลูกสร้างอาคารแล้วเสร็จ จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติตามสัญญาโดยยอมให้โจทก์มีสิทธิหาผู้เช่ามาจดทะเบียนการเช่ามีกำหนด 30 ปีกับจำเลยที่ 1 ซึ่งจะต้องขอความเห็นชอบจากกรมการศาสนาก่อน เมื่อสัญญาก่อสร้างตึกแถวยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนาตามกฎกระทรวงดังกล่าวสัญญาก่อสร้างตึกแถวจึงยังไม่สมบูรณ์ โจทก์ไม่สามารถนำสัญญาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ แต่การที่จำเลยที่ 1 รับเงินค่าหน้าดินจากโจทก์และโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฟ้องขับไล่ผู้เช่าเดิม แล้วจำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำการก่อสร้างอาคารต่อไป ย่อมทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาให้โจทก์เป็นผู้ก่อสร้างอาคารภายในที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์มีสิทธิกำหนดสถานที่ก่อสร้างแบบแปลนและจำนวนอาคาร กับมีสิทธินำอาคารให้ผู้อื่นเช่ามีกำหนด 30 ปี และมีสิทธิได้รับเงินช่วยค่าก่อสร้างจากผู้เช่าอาคารทั้งหมด โจทก์จะเป็นผู้ดำเนินคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าเดิมและออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด โจทก์ต้องจ่ายค่าหน้าดินให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นเงิน400,000 บาท แบ่งชำระในวันทำสัญญา 100,000 บาท ส่วนที่เหลือชำระเมื่อจดทะเบียนเช่าอาคารครบทุกห้องแล้ว โจทก์จ่ายค่าหน้าดินให้จำเลยอีก 30,000 บาทโจทก์ดำเนินการฟ้องขับไล่ผู้เช่าที่ดินเดิมได้เพียง 14 ราย จากจำนวนผู้เช่าประมาณ60 ราย เสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 575,500 บาท ภายหลังจำเลยทั้งสองไม่ยอมมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องขับไล่ผู้เช่าที่เหลือ และไม่ยอมมอบอำนาจให้โจทก์ไปดำเนินการขออนุญาตก่อสร้างอาคารจากทางราชการ การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์เสียหายเพราะไม่สามารถเรียกเงินช่วยค่าก่อสร้างจากผู้ที่จะมาเช่าอาคารจำนวน 58 ห้อง ห้องละ1,200,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างห้องละ 500,000 บาทออก โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 40,600,000 บาท โจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าเดิมและจ่ายค่าขนย้ายรวมเป็นเงิน 711,500 บาท และเงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าหน้าดินให้แก่จำเลยทั้งสองไปแล้ว 130,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันและแทนกันปฏิบัติตามสัญญาก่อสร้างตึกแถว โดยให้จำเลยทั้งสองยื่นคำขออนุญาตต่อทางราชการเพื่อให้โจทก์ก่อสร้างอาคารตามแบบแปลนแผนผังเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ลงชื่อในเอกสารต่าง ๆ ที่ต้องใช้ในการฟ้องขับไล่ผู้เช่าอาศัยในบริเวณที่ดินที่จะก่อสร้าง กับให้จำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 39936และ 39937 ให้แก่โจทก์เข้าไปปลูกสร้างอาคาร ห้ามจำเลยทั้งสองขัดขวางการก่อสร้างให้จำเลยทั้งสองรับค่าหน้าดินที่เหลือจำนวน 270,000 บาท จากโจทก์และเมื่อก่อสร้างอาคารแล้วให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนการเช่าให้แก่ผู้เช่ามีกำหนด 30 ปี หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ถ้าจำเลยทั้งสองไม่สามารถปฏิบัติได้ ให้ร่วมกันและแทนกันคืนเงินที่โจทก์ดำเนินการตามสัญญาไปแล้วจำนวน 941,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 กันยายน2526 กับค่าเสียหายจำนวน 40,600,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราเดียวกันนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยทำสัญญากับโจทก์ตามฟ้อง และไม่เคยรับเงิน 130,000 บาท จำเลยที่ 2 ไม่เคยมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องขับไล่ผู้เช่าเดิม โจทก์ทราบดีว่าสัญญาที่ทำขึ้นนั้นไม่ผูกพันจำเลยทั้งสองจึงได้ยกเลิกสัญญาเช่าท้ายฟ้องไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 705,500 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2536เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความนำสืบและไม่ได้โต้แย้งกันว่านายสุรินทร์ ปัญจพลากรกุล เป็นผู้ลงชื่อทำสัญญาก่อสร้างตึกแถวโดยมีนายเศรษฐ์ภาษิตานนท์ ซึ่งเป็นไวยาวัจกรของจำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นคู่สัญญา ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า โจทก์เป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อของนายสุรินทร์หรือไม่โจทก์มีตัวโจทก์ นายสุรินทร์ ปัญจพลากรกุล พระครูสุเทพธรรมรัตน์ และพระชินวงศ์พิพัฒน์เป็นพยานเบิกความว่า โจทก์เคยรู้จักกับจำเลยที่ 2 มาก่อน เคยเจรจาตกลงกับจำเลยที่ 2 เรื่องจะปรับปรุงที่ดินของจำเลยที่ 1 ในฐานะที่จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าอาวาสของจำเลยที่ 1 และมีอำนาจกระทำการใด ๆ ผูกพันแทนจำเลยที่ 1 โจทก์ประสงค์จะเล่นการเมืองเกรงว่าจะกระทบต่อชื่อเสียง จึงให้นายสุรินทร์เป็นตัวแทนเชิดของโจทก์ในการลงชื่อเป็นคู่สัญญา ส่วนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ก็ให้นายเศรษฐ์ซึ่งเป็นไวยาวัจกรของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงชื่อในสัญญาก่อสร้างตึกแถว นอกจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังเป็นผู้เขียนข้อความรับทราบสัญญาและลงชื่อไว้ท้ายสัญญาดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 1 นำสืบอ้างว่าขณะที่จำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญานั้นไม่ได้อ่านข้อความในสัญญา ขณะที่ลงชื่อเป็นไข้หวัดและทราบจากนายเศรษฐ์ว่าเป็นหนังสือให้ลงชื่อเพื่อปรับปรุงที่ดินของจำเลยที่ 1 เท่านั้น เห็นว่า พยานโจทก์ต่างเบิกความสอดคล้องต้องกันในสาระสำคัญแห่งคดีจำเลยที่ 2 เป็นพระเถระผู้ใหญ่ จำเลยที่ 1 เป็นวัดทางศาสนา พยานโจทก์คงจะไม่กล้าเบิกความเท็จอันเป็นการทำให้จำเลยทั้งสองต้องเสียหายโดยที่ไม่เป็นความจริง ที่จำเลยที่ 2อ้างว่า ลงชื่อในสัญญาก่อสร้างตึกแถวในขณะที่จำเลยที่ 2 กำลังเป็นไข้หวัด ไม่ได้อ่านข้อความในหนังสือสัญญาก็เป็นข้อกล่าวอ้างลอย ๆ และการเป็นเพียงไข้หวัดก็มิได้ทำให้ไม่สามารถอ่านข้อความในหนังสือสัญญาได้ และหากไม่สามารถอ่านหนังสือได้จริง จำเลยที่ 2 ก็ย่อมจะขอเลื่อนไปก่อนจนกว่าจะหายไข้ได้ การที่จำเลยที่ 2 เขียนข้อความว่า “อาตมารับทราบแล้ว” ยิ่งเป็นการยืนยันได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้เขียนข้อความดังกล่าวในขณะที่จำเลยที่ 2 มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ทุกประการ และเป็นการให้สัตยาบันหนังสือดังกล่าวให้มีผลสมบูรณ์ผูกพันจำเลยที่ 1 ให้ต้องรับผิดตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอ้างว่าข้อความในหนังสือมอบอำนาจ มิใช่เป็นการที่จำเลยที่ 2มอบอำนาจให้นายเศรษฐ์ ภาษิตานนท์ ลงชื่อทำสัญญากับโจทก์ เห็นว่า ตามข้อความในสัญญาข้อ 1 ระบุว่า ให้นายเศรษฐ์มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด การที่นายเศรษฐ์ไปลงชื่อตามสัญญาก่อสร้างตึกแถวโดยมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสลงชื่อรับทราบไว้ท้ายสัญญาเพื่อให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างตึกแถวในที่ดินของวัดและให้ผลประโยชน์แก่วัด จึงเป็นการจัดการศาสนสมบัติของวัดแล้ว กรณีไม่จำต้องทำหนังสือมอบอำนาจเป็นการเฉพาะเรื่องตามที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอีกทีหนึ่งข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์เป็นตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อของนายสุรินทร์ ส่วนที่จำเลยที่ 1ฎีกาอีกประการหนึ่งอ้างว่า การให้เช่าที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ที่มีการกำหนดระยะเวลาเช่าเกิน 3 ปี จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนาตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์พ.ศ. 2505 นั้น เห็นว่า ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ข้อ 2 ระบุว่า การกันที่ดินซึ่งเป็นที่วัดให้เป็นที่จัดประโยชน์จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อกรมการศาสนาเห็นชอบและได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม และข้อ 4 ระบุว่า การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ที่กัลปนาหรือที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ที่มีกำหนดระยะเวลาเช่าเกิน 3 ปี จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนา แม้สัญญาก่อสร้างตึกแถวจะไม่ใช่สัญญาเช่าโดยตรงแต่เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขในอนาคต เพราะขณะทำสัญญาโจทก์ยังไม่ได้ปลูกสร้างอาคารและอาคารเหล่านั้นก็ยังไม่มี แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ก็มีผลให้เห็นได้ในอนาคตว่าหากโจทก์ปลูกสร้างอาคารแล้วเสร็จตามสัญญาก็ย่อมจะมีผลให้จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติตามสัญญา คือให้โจทก์มีสิทธิหาผู้เช่ามาจดทะเบียนการเช่ามีกำหนด30 ปี กับจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเป็นจะต้องขอความเห็นชอบจากกรมการศาสนาก่อนเมื่อปรากฏว่าสัญญาก่อสร้างตึกแถวยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนาตามกฎกระทรวงดังกล่าว สัญญาก่อสร้างตึกแถวจึงยังไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายโจทก์ยังไม่สามารถจะนำสัญญาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติตามสัญญาได้แต่การที่จำเลยที่ 1 รับเงินค่าหน้าดินจากโจทก์ และโจทก์ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการฟ้องขับไล่ผู้เช่าเดิมรวมเป็นเงิน 705,500 บาท ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ยอมให้โจทก์เข้าทำการก่อสร้างอาคารต่อไป ย่อมทำให้โจทก์เสียหายจำเลยที่ 1 จึงต้องชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน