แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการประกันตัว ต. ผู้ต้องหานั้น มีผู้ค้ำประกัน2 คน คือ จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลค้ำประกัน กับจำเลยที่ 1นำที่ดินมาวางเป็นประกันโดยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 มาดำเนินการแทน จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในสัญญาประกัน 2 ฐานะคือในฐานะนายประกันและในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 เหตุที่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ประกันตัว ต. ผู้ต้องหาไปเพราะเชื่อถือตัวบุคคลที่ขอประกันคือจำเลยที่ 2 และเชื่อถือหลักทรัพย์ที่นำมาวางเป็นประกันของจำเลยที่ 1 ตามคำร้องขอประกันก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ยื่นคำร้อง โดยได้รับความยินยอมจาก ร. ภริยาของจำเลยที่ 2ด้วย ทั้งตามสัญญาประกันตอนท้ายจำเลยที่ 2 ก็ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ประกัน มีรายละเอียดระบุว่าจำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 20738 มาเป็นหลักประกันโดยจำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินโฉนดดังกล่าวมาเป็นหลักประกันได้เมื่อถึงกำหนดส่งตัว ต. ผู้ต้องหา จำเลยที่ 2 ก็ได้มีหนังสือขอเลื่อนส่งตัวผู้ต้องหา แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2มีเจตนาเข้าทำสัญญาประกันตัว ต. ผู้ต้องหาในนามของจำเลยที่ 2 เองด้วย หาใช่เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1 เท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวนายตั้วอ๋า แซ่เฮง ไว้ในข้อหาออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค จำเลยทั้งสองทำสัญญาค้ำประกันให้ปล่อยตัวนายตั้วอำ แซ่เฮง หากไม่ส่งตัวภายในกำหนดนัดยินยอมให้ปรับ60,000 บาท โจทก์ได้ปล่อยตัวนายตั้วอ๋า แซ่เฮง แต่จำเลยทั้งสองไม่นำตัวมาส่งตามกำหนดนัด จำเลยทั้งสองต้องชำระเงินค่าปรับพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ได้ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาตามฟ้องจริง แต่ค่าปรับสูงเกินไปไม่ควรเกิน 10,000 บาท และจำเลยที่ 2 รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์60,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่18 มกราคม 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 16,200 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ 20,000 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่18 มกราคม 2527 จนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 16,200 บาท และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกมีว่า จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดตามสัญญาประกันร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกประชุม บุตรดีมาเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ในการประกันตัวนายตั้วอ๋า แซ่เฮงผู้ต้องหานั้น มีผู้ค้ำประกัน 2 คน คือ จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลค้ำประกัน กับจำเลยที่ 1 นำที่ดินมาวางเป็นประกันโดยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 มาดำเนินการแทน จำเลยที่ 2 จึงลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน 2 ฐานะ คือในฐานะนายประกันและในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 และมีพันตำรวจโทจีรเดช พรหโมบล พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความสนับสนุนว่า เหตุที่พยานอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ประกันตัวนายตั้วอ๋า แซ่เฮง ผู้ต้องหาไปเพราะเชื่อถือตัวบุคคลที่ขอประกันคือจำเลยที่ 2 และเชื่อถือหลักเกณฑ์ที่นำมาวางเป็นประกันของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ตามคำร้องขอประกันเอกสารหมาย จ.2 ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ยื่นคำร้อง โดยได้รับความยินยอมจากนางรัชนี เสนาอธิกุลภริยาของจำเลยที่ 2 ด้วยตามเอกสารหมาย จ.6 ทั้งตามสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.2 ตอนท้ายจำเลยที่ 2 ก็ได้ลงลายมือชื่อเป็นผู้ประกัน มีรายละเอียดระบุว่าจำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 20738 ตำบลท่าแร้ง อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร มาเป็นหลักประกันโดยจำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 นำที่ดินโฉนดดังกล่าวมาเป็นหลักประกันได้ตามเอกสารหมาย จ.3 ทั้งเมื่อถึงกำหนดส่งตัวนายตั้วอ๋า แซ่เฮง ผู้ต้องหา จำเลยที่ 2 ก็ได้มีหนังสือขอเลื่อนส่งตัวผู้ต้องหาตามเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งตามเอกสารทุกฉบับดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 มีเจตนาเข้าทำสัญญาประกันตัวนายตั้วอ๋า แซ่เฮง ผู้ต้องหาในนามของจำเลยที่ 2 เองด้วย หาใช่เป็นเพียงตัวแทนของจำเลยที่ 1 เท่านั้นไม่หากจำเลยที่ 2 เป็นแต่เพียงผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ให้มาประกันตัวผู้ต้องหาจริงแล้ว จำเลยที่ 2 ก็น่าจะระบุไว้ในคำร้องขอประกันเอกสารหมาย จ.2 ด้วยว่าได้ทำแทนจำเลยที่ 1 ทั้งไม่จำต้องมีหนังสือยินยอมจากภริยาของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด ที่จำเลยที่ 2ให้การต่อสู้คดีว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 1 ให้นำที่ดินโฉนดดังกล่าวมายื่นเรื่องขอประกันแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่คู่สัญญากับโจทก์นั้น จำเลยที่ 2ก็หาได้นำพยานหลักฐานมาสืบสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าวเพื่อหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์แต่อย่างใดไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ประกันตัวนายตั้วอ๋า แซ่เฮงผู้ต้องหาไปจากโจทก์ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงินจำนวนเท่าใดเห็นว่า ความผิดที่นายตั้วอ๋า แซ่เฮง ถูก กล่าวหานั้นเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คซึ่งมีโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 1 ปี และเป็นความผิดอันยอมความได้จึงมิใช่ความผิดอันร้ายแรง การที่หัวหน้าพนักงานสอบสวนกำหนดค่าปรับเมื่อผิดสัญญาประกันเป็นเงินจำนวน 60,000 บาท นั้นเมื่อพิจารณาตามพฤติการณ์แห่งคดีดังกล่าวประกอบกับพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้วย่อมเห็นได้ว่าเป็นการกำหนดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงโดยให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับจำนวน 20,000 บาท นั้นเป็นจำนวนค่าปรับที่เหมาะสมแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ชำระเงินให้โจทก์จำนวน 20,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันที่18 มกราคม 2527 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 24 สิงหาคม 2530) ต้องไม่เกิน 16,200 บาทนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์