คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2520/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ได้บรรยายฟ้องในตอนแรกแล้วว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นเวลากว่า 20 ปี และโจทก์ได้บรรยายในตอนต่อมาว่าจำเลยได้ตกลงจดทะเบียนภารจำยอมให้มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแต่ปรากฏว่าจำเลยปฏิเสธไม่ยอมไปจดทะเบียนภารจำยอมตามที่ตกลงกัน จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยไปทำนิติกรรมจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 2219 ของจำเลย ซึ่งจำเลยได้ให้การว่าทางพิพาทมิใช่ภารจำยอมและจำเลยไม่เคยตกลงกับโจทก์เพื่อจดทะเบียนภารจำยอม ประเด็นแห่งคดีจึงมีทั้งข้อที่จะต้องวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นภารจำยอมโดยอายุความหรือไม่และโจทก์จะบังคับให้จำเลยจดทะเบียนทางพิพาทดังกล่าวให้เป็นภารจำยอมได้หรือไม่ เพราะหากทางพิพาทเป็นภารจำยอมโดยอายุความ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยจดทะเบียนเป็นภารจำยอมได้แม้จำเลยมิได้ตกลงด้วยก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนทางภารจำยอมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 2219 เป็นถนนกว้าง 3 เมตร ยาวตลอดที่ดิน ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่โจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ที่ดินทั้งสี่แปลงตามแผนที่สังเขป เอกสารหมาย จ.2 เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันของนางแช่ม นิยกิจ ซึ่งเป็นยายโจทก์ ต่อมานางแช่มแบ่งที่ดินดังกล่าวออกเป็น 4 แปลง ให้แก่บุตร 4 คน โดยให้บุตรแต่ละคนไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) คือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 2217, 2218, 2219 และ 2220 โจทก์ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2220 ต่อจากมารดาโจทก์ ส่วนจำเลยครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 2217 และ 2219 โดยซื้อจากนายจวน ขนอม ทางพิพาทอยู่ทางทิศตะวันตกของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 2219 ของจำเลย โจทก์ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์กล่าวอ้างว่าที่พิพาทโจทก์และประชาชนได้ใช้มาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว และได้ภารจำยอมจำเลยโต้เถียงว่า โจทก์ถือวิสาสะและใช้ทางมาไม่ถึง 10 ปี ไม่เป็นภารจำยอม ศาลจึงต้องวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นภารจำยอมหรือไม่เพื่อให้จำเลยจดทะเบียนภารจำยอมให้แก่โจทก์และจำเลยได้ทรัพย์มาโดยการซื้อที่ดินขณะที่มีภารจำยอมอยู่แล้ว จึงต้องรับภารจำยอมติดมาด้วย พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องในตอนแรกแล้วว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นเวลากว่า 20 ปี และโจทก์ได้บรรยายในตอนต่อมาว่า จำเลยได้ตกลงจดทะเบียนภารจำยอมให้ผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแต่ปรากฏว่าจำเลยปฏิเสธไม่ยอมไปจดทะเบียนภารจำยอมตามที่ตกลงกันจึงขอให้ศาลบังคับจำเลยไปทำนิติกรรมจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2219 ของจำเลยซึ่งจำเลยได้ให้การว่า ทางพิพาทมิใช่ภารจำยอมและจำเลยไม่เคยตกลงกับโจทก์เพื่อจดทะเบียนภารจำยอม ในประเด็นแห่งคดีจึงมีทั้งข้อที่จะต้องวินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นภารจำยอมโดยอายุความหรือไม่ และโจทก์จะบังคับให้จำเลยจดทะเบียนทางพิพาทดังกล่าวให้เป็นภารจำยอมได้หรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นด่วนวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาฟังไม่ได้ว่า จำเลยตกลงจดทะเบียนทางพิพาทเป็นภารจำยอม แล้วพิพากษายกฟ้อง โดยไม่วินิจฉัยว่า ทางพิพาทเป็นภารจำยอมโดยอายุความหรือไม่ ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาเพราะหากทางพิพาทเป็นภารจำยอมโดยอายุความโจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยจดทะเบียนเป็นภารจำยอมได้ แม้จำเลยมิได้ตกลงด้วยก็ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยมิได้ส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อให้พิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1) จึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้ฎีกามา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5)ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 และเห็นสมควรส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ โดยวินิจฉัยประเด็นที่ว่าทางพิพาทเป็นภารจำยอมโดยอายุความหรือไม่ด้วย

Share