แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นสั่งเลื่อนการไต่สวนมูลฟ้องจากวันที่ 28 ตุลาคม 2508 โดยให้นัดไต่สวนมูลฟ้องใหม่ในวันที่ 13 ธันวาคม 2508 อันให้เวลาโจทก์ถึง 46 วัน และศาลก็สั่งให้แจ้งวันนัดให้จำเลยทราบถ้าส่งหมายนัดไม่ได้ ก็ให้ปิดหมายซึ่งถ้าโจทก์จะยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้อง ก็น่าจะกระทำได้ก่อนกำหนดไม่ใช่รอให้ถึงวันนัดโดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งแล้วมายื่นคำร้องขอแก้ฟ้องเอาในวันนัด เพื่ออาศัยเป็นเหตุที่จะเลื่อนคดีต่อไป เช่นนี้ ย่อมเป็นการละเลยเพิกเฉยในการดำเนินคดี ศาลย่อมสั่งจำหน่ายคดีโจทก์เสียจากสารบบความได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ศาลอาญาสั่งนัดไต่สวนมูลฟ้อง ให้ส่งหมายนัดและสำเนาฟ้องให้จำเลย ได้มีการขอเลื่อนการไต่สวนหลายครั้งครั้งสุดท้ายศาลเลื่อนไปในวันที่ 13 ธันวาคม 2508 แต่ก็มิได้มีการไต่สวนมูลฟ้องอีก โดยโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในวันนัดนั้น
ศาลชั้นต้นเห็นว่า พฤติการณ์ของโจทก์ถือได้ว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนด และโจทก์ทราบคำสั่งในวันร้องขอเลื่อน กรณีต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่โจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่ได้ละเลยเพิกเฉยในการดำเนินคดีทนายโจทก์ก็เจ็บป่วยจริง ระยะเวลาปิดหมายก็มีไม่พอนั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะการที่ศาลชั้นต้นสั่งเลื่อนการไต่สวนจากวันที่ 28 ตุลาคม 2508 โดยให้นัดไต่สวนใหม่ในวันที่ 13 ธันวาคม 2508 อันให้เวลาโจทก์ถึง 46 วัน และศาลก็ให้แจ้งวันนัดให้จำเลยทราบถ้าส่งหมายนัดไม่ได้ก็ให้ปิดหมาย ซึ่งถ้าโจทก์จะยื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องก็น่าจะกระทำได้ก่อนถึงวันนัด ไม่ใช่รอให้ถึงวันนัดโดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งแล้วมายื่นคำร้องขอแก้ไขฟ้องเอาในวันนัดเพื่ออาศัยเป็นเหตุที่จะเลื่อนคดีต่อไปอีก เช่นนี้ ย่อมไม่ชอบ
พิพากษายืน