แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นน้องชายเจ้ามรดก โจทก์ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 แต่โจทก์ไม่มีสิทธิรับมรดกในเมื่อยังมีทายาทโดยธรรมในลำดับก่อนตนยังมีชีวิตอยู่ตาม มาตรา 1630และทั้งนี้ต้องต่อเมื่อเจ้ามรดกมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้โจทก์
โจทก์ที่ 3 เป็นบุตรเจ้ามรดกและโจทก์ที่ 1,2 เป็นน้องชายเจ้ามรดกซึ่งมิได้ทำพินัยกรรมไว้ การที่จำเลยสมคบกันปลอมพินัยกรรมขึ้นว่าเจ้ามรดกยกทรัพย์ให้จำเลยที่ 4 ผู้เดียว ย่อมทำให้โจทก์ที่ 3 เสียหายแต่ไม่ทำให้โจทก์ที่ 1,2 ผู้เป็นน้องชายเจ้ามรดกเสียหายด้วยเพราะจำเลยจะปลอมหรือไม่ปลอม โจทก์ที่ 1,2 ก็ไม่มีสิทธิรับมรดกอยู่แล้ว และฟ้องมิได้บรรยายว่าเจ้ามรดกตั้งใจทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้โจทก์ที่ 1,2 ด้วยแล้วจำเลยปลอมพินัยกรรมขึ้นเป็นอย่างอื่น โจทก์ที่ 1,2 จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีอาญาฐานปลอมพินัยกรรม ตลอดถึงข้อหาฐานเบิกความเท็จเรื่องพินัยกรรมปลอมนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1, 2, 4, 5, 6 ได้สมคบกันปลอมพินัยกรรมของนางลุ้ย สัมมาพล ระบุทรัพย์ให้จำเลยที่ 4 การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายเพราะโจทก์ที่ 1, 2 เป็นน้องชายนางลุ้ยและโจทก์ที่ 3 เป็นทายาทผู้รับมรดกนางลุ้ย ต่อมาจำเลยที่ 3, 4 ได้สมคบกันนำพินัยกรรมปลอมดังกล่าวมาแสดงต่อศาลในการพิจารณาคดีเพื่อให้ศาลหลงเชื่อว่าเป็นพินัยกรรมที่แท้จริง และจำเลยที่ 1, 4, 5 ได้นำความซึ่งรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จและเป็นข้อสำคัญในคดีมาเบิกความต่อศาลในการพิจารณาคดีดังกล่าวว่านางลุ้ยได้ทำพินัยกรรมฉบับนั้นขึ้น การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียหาย ถ้าศาลหลงเชื่อว่าเป็นพินัยกรรมที่แท้จิรง โจทก์จะไม่ได้รับมรดกของนางลุ้ยเลยขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 264, 266, 268,269, 177, 180
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้อง คดีมีมูลหมายเรียกจำเลยมาแก้คดี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ภายหลังสืบโจทก์ที่ 1, 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลชี้ขาดเบื้องต้นว่าโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรเจ้ามรดก โจทก์ที่ 1, 2 ย่อมถูกตัดมิให้รับมรดก โจทก์ที่ 1, 2 จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีนี้
ศาลชั้นต้นสั่งว่า โจทก์ที่ 1, 2 มิใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง ให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 1, 2 คงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเฉพาะฟ้องของโจทก์ที่ 3
โจทก์ที่ 1, 2 อุทธรณ์ว่าเป็นผู้เสียหายด้วย เพราะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และเป็นผู้รับทรัพย์มรดกด้วยตามหนังสือสัญญาแบ่งทรัพย์มรดก ซึ่งโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 3, 4 ได้ลงชื่อยอมแบ่งไว้
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ที่ 1, 2 ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ที่ 1, 2 เป็นผู้เสียหายเพราะเป็นผู้จัดการมรดกด้วยนั้น ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายเช่นนั้น ส่วนข้อที่ว่าเป็นผู้รับทรัพย์มรดกตามสัญญาแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3, 4 นั้น ฟ้องก็มิได้บรรยายเช่นเดียวกันและเป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 1, 2 จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากคู่สัญญาต่อไป ศาลอุทธรณ์พิพากษาใน 2 ข้อนี้ชอบแล้ว
แต่ข้อที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า โจทก์ที่ 1, 2 มิใช่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกนั้น ไม่ถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ซึ่งบัญญัติว่า ทายาทโดยธรรมมี 6 อันดับ เมื่อโจทก์ที่ 1, 2 เป็นน้องชายของเจ้ามรดก โจทก์ที่ 1, 2 ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับที่ 3 หรือที่ 4 แล้วแต่กรณี เพียงแต่ว่าโจทก์ที่ 1, 2 จะไม่มีสิทธิรับมรดกในเมื่อยังมีทายาทโดยธรรมในลำดับก่อนตนยังมีชีวิตอยู่ตามมาตรา 1630 เท่านั้น และทั้งนี้ต้องต่อเมื่อเจ้ามรดกมิได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้โจทก์ที่ 1, 2 ด้วย
เมื่อฟ้องโจทก์บรรยายว่าโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรนางลุ้ย สัมมาพลเจ้ามรดก และโจทก์ที่ 1, 2 เป็นน้องชายเจ้ามรดกซึ่งมิได้ทำพินัยกรรมไว้เลยแล้วการที่จำเลยสมคบกันปลอมพินัยกรรมขึ้นว่า เจ้ามรดกยกทรัพย์ให้จำเลยที่ 4 ผู้เดียวตามฟ้อง ย่อมทำให้โจทก์ที่ 3 ผู้เป็นบุตรเจ้ามรดกเสียหาย แต่ไม่ทำให้โจทก์ที่ 1, 2 ผู้เป็นน้องชายเจ้ามรดกเสียหายด้วย เพราะจำเลยจะปลอมหรือไม่ปลอมพินัยกรรมโจทก์ที่ 1, 2 ก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของนางลุ้ยอยู่แล้ว และฟ้องมิได้บรรยายว่านางลุ้ยตั้งใจทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้โจทก์ที่ 1, 2 ด้วยแล้วจำเลยปลอมพินัยกรรมขึ้นเป็นอย่างอื่น โจทก์ที่ 1, 2 จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องคดีอาญาฐานปลอมพินัยกรรม ตลอดถึงข้อหาฐานเบิกความเท็จเรื่องพินัยกรรมปลอมนี้ได้ ผลแห่งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ที่ 1, 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์