คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1129/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงปรากฎว่าจำเลยได้ปรุงยาธาตุและใช้ฉลากชื่อยาของจำเลยจำหน่ายมาก่อนที่โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ายาธาตุของโจทก์แล้ว แม้ฉลากจะมีลักษณะคล้ายกัน แต่ก็แสดงว่าจำเลยมิได้มีเจตนาที่จะลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อว่าเป็นของบุคคลหรือบริษัทอื่น อันจะเป็นความผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 237 (หรือประมวล ก.ม.อาญา มาตรา 274)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อ ๑๖ ธ.ค.๙๕ นายเต๊กท้วงได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อเจ้าพนักงานกรมทะเบียนการค้า ใช้ชื่อยาธาตุน้ำแดงผลไม้ ตอนกลางมีรูปผลไม้ต่าง ๆ ส่วนล่างบอกชื่อบริบูรณ์เภสัช ๒๖-๒๘ สามยอด พระนครมีลักษณะรูปสี่เหลี่ยม เจ้าพนักงานได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว เมื่อ ๒๗ พ.ย. ๙๗ ระหว่าง ๑ มิ.ย.ถึง ๒๙ ก.ย.๙๘ จำเลยได้เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของนายเต๊กท้วงนี้ โดยผลิตยาธาตุขายปิดฉลากมีลักษณะคล้ายกับของนายเต๊กท้วงนี้ มีเจตนาทุจริตลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อว่าเป็นยาธาตุของนายเต๊กท้วงทำให้นายเต๊กท้วงเสียหาย จำเลยเคยต้องโทษมาแล้ว ขอให้ลงโทษและเพิ่มโทษตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ และว่าผู้เสียหายใช้สิทธิไม่สุจริต ข้อเคยต้องโทษมาแล้วรับว่าจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยผิด พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า ๒๔๗๔ มาตรา ๓๔,๒๗ ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๓๗ จำคุก ๖๐ วัน ปรับ ๓๐๐ บาท เพิ่มโทษ ๑ ใน ๓ ตามมาตรา ๗๒ คงจำคุก ๘๐ วัน ปรับ ๔๐๐ บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตาม มาตรา ๑๘ ของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยมาก่อนที่โจทก์ร่วมได้ขอจดทะเบียนของตน จำเลยจึงไม่ควรผิดตามฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ของกลางคืนเจ้าของ
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยได้ใช้ชื่อยาธาตุน้ำแดงผลไม้ตราใบทอง และได้ปรุงจำหน่ายมาก่อนที่โจทก์ร่วมได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยจึงไม่ควรผิด พิพากษายืน

Share