คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 105/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษร winner ประกอบกับภาพคนยืนยกมือ ภาพคนขี่ม้ากระโดดข้ามรั้วและอักษรว่าด้วยคุณภาพสินค้า ตามเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาโจทก์ขอจดทะเบียนการค้าอักษร winnerr ไม่มีภาพประกอบตามเอกสารหมาย จ.1 ดังนี้ เห็นได้ว่าความสำคัญเด่นชัดอยู่ที่คำว่า “winnerr” กับ “winner” ภาพและอักษรอื่นเป็นแต่ส่วนประกอบ และการที่จะวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าเหมือนกันหรือไม่ จะเพียงแต่เอามาเทียบกันแล้วชี้ขาดว่าไม่เหมือนกัน เพราะมีความแตกต่างกันบางประการเท่านั้น หาได้ไม่ ยังจะต้องพิจารณาพฤติการณ์ต่าง ๆ ประกอบด้วยว่าอาจทำให้สาธารณชนหลงเข้าใจผิดได้หรือไม่ เมื่อเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวในลักษณะสำคัญได้ใช้ภาษาต่างประเทศ มีสำเนียงเรียกขานเหมือนกันและใช้สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน ผู้ซื้อย่อมติดใจยึดถือคำเรียกขานและหลงผิดได้ง่าย ว่าสินค้าทั้งสองเครื่องหมายเป็นอย่างเดียวกัน เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 จึงมีลักษณะเหมือนกัน
(วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 22/2510)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า วินเนอร์ (winnerr) ซึ่งโจทก์คิดประดิษฐ์ใช้กับสินค้าเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อนายทะเบียน ตามคำขอที่ ๓๙๙๙๖ แต่ปรากฏว่าจำเลยนำเอาคำ “วินเนอ” (winner) ไปยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ตามคำขอที่ ๓๘๑๘๖ เครื่องหมายการค้าของจำเลยมีคำว่า “วินเนอร์” (winner) มีรูปลักษณะเหมือนและคล้ายกันกับของโจทก์อย่างยิ่ง ผิดกันแต่เพียงว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คำว่า “วินเนอร์” (winnerr) มีตัว อาร์ (r) อยู่สองตัว ส่วนของจำเลย คำว่า “วินเนอ” (winner) มีตัว อาร์ (r) อยู่เพียงตัวเดียว การอ่านออกเสียงตลอดจนการเรียกขาน เหมือนกันจนประชาชนหลงผิดการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิด โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์เป็นผู้มีสิทธิดีกว่าจำเลยในอันที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่ ๓๙๙๙๖ ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่ ๓๙๙๙๖ ดีกว่าจำเลย ห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอที่๓๘๑๘๖
จำเลยให้การว่า โจทก์เพิ่งใช้เครื่องหมายการค้าตามฟ้อง ๒ ปีเศษนี้เอง จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า winner มาก่อนโจทก์ โจทก์เลียนแบบทำให้เหมือนหรือคล้ายกับของจำเลย ถือว่าโจทก์ละเมิดสิทธิของจำเลยขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้ห้ามมิให้โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ ๓๙๙๙๖ แลให้แสดงว่าจำเลยมีสิทธิเหนือเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่ ๓๘๑๘๖ ดีกว่าโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าทีหลังโจทก์ ฯลฯ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยมีลักษณะเกือบเหมือนกัน โจทก์ใช้มาก่อนจำเลย โจทก์เป็นผู้มีสิทธิที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอที่ ๓๙๙๙๖ ดีกว่าจำเลย พิพากษาห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอที่ ๓๘๑๘๖
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษร winner ประกอบกับภาพคนยืนยกมือ ภาพคนขี่ม้ากระโดดข้ามรั้ว และอักษรว่าด้วยคุณภาพสินค้าตามเอกสารหมาย จ.๒ ต่อมาโจทก์ไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษร winner ไม่มีภาพประกอบตามเอกสารหมาย จ.๑
ศาลฎีกาเห็นว่า ความสำคัญเด่นชัดอยู่ที่คำว่า “winnerr” กับ “winner” ภาพและอักษรอื่นเป็นแต่ส่วนประกอบ และการที่จะวินิจฉัยว่า เครื่องหมายการค้าเหมือนกันหรือไม่จะเพียงแต่เอามาเทียบกันแล้วชี้ขาดว่าไม่เหมือนกัน เพราะมีความแตกต่างกันบางประการเท่านั้นหาได้ไม่ ยังจะต้องพิจารณาพฤติการณ์ต่าง ๆ ประกอบด้วยว่า อาจทำให้สาธารณชนหลงเข้าใจผิดได้หรือไม่ เมื่อเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าวในลักษณะสำคัญได้ใช้ภาษาต่างประเทศ มีสำเนียงเรียกขานเหมือนกัน และใช้สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกัน ผู้ซื้อย่อมติดใจยึดถือคำเรียกขานและหลงผิดได้ง่ายว่าสินค้าทั้งสองเครื่องหมายเป็นอย่างเดียวกัน ที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาจึงลงมติว่า เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.๑ และ จ.๒ มีลักษณะเหมือนกัน ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช ๒๔๗๕ มาตรา ๑๗
ส่วนข้อเท็จจริง ศาลฎีกาฟังว่า เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.๑ เป็นของโจทก์ใช้มาก่อนจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ. ๒ ของจำเลย
พิพากษายืน

Share