คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4212/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นิติบุคคลซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันวินาศภัยแต่ได้รับประกันวินาศภัยไว้เมื่อได้รับเบี้ยประกันภัยอันเป็นผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้เอาประกันภัย นิติบุคคลนั้นจะปฏิเสธว่าเป็นเรื่องนอกวัตถุประสงค์ของตนเพื่อให้พ้นความรับผิดที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัยหาได้ไม่ การที่ผู้รับประกันภัยได้รับประกันวินาศภัยไว้จากผู้เอาประกันภัยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้ประกอบกิจการประกันวินาศภัยสัญญาประกันภัยจะเป็นโมฆะก็ต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นคู่สัญญาได้ทราบถึงการไม่ได้รับอนุญาตนั้นเมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เอาประกันภัยได้ทราบความดังกล่าว ผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีนางเฉวียง โจทก์ที่ 2 เป็นสามีนางยิ้ม โจทก์ที่ 3,ที่ 4, ที่ 5 เป็นมารดาและบิดานายเจตน์ นายฉลาด นายประยูร ตามลำดับ โจทก์ที่ 6เป็นผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน ฉ.ช.04290 โจทก์ที่ 7 เป็นเจ้าของรถยนต์โดยสารคันดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2522 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างได้ขับรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ คันหมายเลขทะเบียน น.ม. 28973 ในทางการค้าที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยประมาทล้ำเส้นแบ่งกลางถนนและชนกับรถยนต์ของโจทก์ที่ 7 เป็นเหตุให้ นางเฉวียง นางยิ้ม นายเจตน์ นายฉลาด นายประยูร ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 6 ได้รับบาดเจ็บสาหัส และรถยนต์ของโจทก์ที่ 7 ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 คนละ 12,000 บาท รวมเป็นเงิน 60,000 บา และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 6 กับโจทก์ที่ 7 เป็นเงิน110,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ก็มิใช่เจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุ เหตุคดีนี้เกิดเพราะความประมาทของโจทก์ที่ 6 จำเลยที่ 2 ไม่เคยตกลงจะชำระเงินแก่ทายาทของผู้ตายทั้งห้า แต่เป็นข้อตกลงระหว่างโจทกืที่ 1 ถึงที่ 5 กับบริษัทชานนท์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.ม. 28973 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด โจทก์ที่ 6 เสียค่ารักษาพยาบาลไม่เกิน 1,000 บาท รักษาตัวไม่เกิน 10 วัน รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ฉ.ช.04290 เสียหายเพียงเล็กน้อย ค่าซ่อมไม่เกิน 1,500 บาท ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขอให้เรียกบริษัทชานนท์ จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลอนุญาต

จำเลยร่วมให้การว่า จำเลยร่วมไม่ได้เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์คันเกิดเหตุ แต่เป็นของบริษัทบางกอกอินเวสท์เมนท์ จำกัด ซึ่งให้จำเลยที่ 2 เช่าซื้อจำเลยร่วมจึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยที่ 2 ขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีโดยไม่สุจริตและไม่มีข้อเท็จจริงสนับสนุน จำเลยร่วมไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัยไม่มีเหตุผลที่จะเรียกจำเลยร่วมให้เข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) ขอให้ยกคำร้องจำเลยที่ 2

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและกระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ได้เอาประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.ม.28973ไว้แก่จำเลยร่วมจริง พิพากษาให้จำเลยทั้งสองและจำเลยร่วมชำระค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นเงิน 60,000 บาท และโจทก์ที่ 6 ที่ 7 เป็นเงิน 82,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย

จำเลยร่วมทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 แต่ละคนทุนทรัพย์เพียงคนละ 12,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์จึงไม่รับวินิจฉัย และฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่2 ได้เอาประกันภัยค้ำจุน รถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ม. 28973 ไว้แก่จำเลยร่วม พิพากษายืน

จำเลยร่วมทั้งสองสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยร่วมฎีกาว่า จำเลยร่วมมิได้มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัย อีกทั้งจำเลยร่วมไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้ประกอบกิจการประกันวินาศภัย จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 และจำเลยร่วมได้ตกลงทำนิติกรรมซึ่งต้องห้ามชัดแจ้งในกฎหมาย นิติกรรมดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1และที่ 2 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้เอาประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน น.ม. 28973 ไว้กับจำเลยร่วมผู้รับประกันภัยแม้จะฟังว่าจำเลยร่วมไม่มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัย แต่การที่จำเลยร่วมได้รับเบี้ยประกันภัยอันเป็นผลประโยชน์ตอบแทนจากผู้เอาประกันภัย จำเลยร่วมจะปฏิเสธว่าเป็นเรื่องนอกวัตถุประสงค์ของจำเลยร่วม เพื่อให้พ้นความรับผิดที่ต้องใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัยหาได้ไม่ สัญญาประกันภัยดังกล่าวจึงมีผลผูกพันจำเลยร่วม ส่วนที่จำเลยร่วมตกลงทำนิติกรรมสัญญาประกันภัยกับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยร่วมไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้ประกอบกิจการประกันวินาศภัย นิติกรรมดังกล่าวจะเป็นโมฆะต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาได้รู้ว่าจำเลยร่วมไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีให้ประกอบกิจการประกันวินาศภัย เมื่อจำเลยร่วมไม่สืบพยาน จึงไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 2 ได้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้แก่จำเลยร่วม จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองสำนวน ฎีกาของจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

Share