คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11267/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

บทบัญญัติมาตรา 47 วรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดระยะเวลาให้ผู้ประกันตนเรียกเอาเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนที่นายจ้างส่งให้แก่สำนักงานประกันสังคมเกินจำนวนที่ต้องชำระคืนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นำส่งเงินสมทบหรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งให้มารับคืนนั้น เป็นกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ประกันตนใช้สิทธิขอรับเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนที่นายจ้างเป็นผู้นำส่งให้แก่สำนักงานประกันสังคมเกินจำนวนที่ต้องชำระคืนโดยเร็ว ผู้ประกันตนจึงต้องได้ทราบว่านายจ้างนำส่งเงินสมทบดังกล่าวเกินจำนวนที่ต้องชำระด้วยหรือผู้ประกันตนต้องได้รับแจ้งให้มารับเงินนั้น เมื่อโจทก์ไม่เคยทราบมาก่อนว่านายจ้างนำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนเกินจำนวนที่ต้องชำระและจำเลยไม่เคยแจ้งให้โจทก์มารับเงินดังกล่าว แต่โจทก์เพิ่งทราบว่านายจ้างนำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนเกินจำนวนที่ต้องชำระในวันที่โจทก์มายื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ และโจทก์ได้ขอรับเงินสมทบที่นายจ้างนำส่งเกินดังกล่าวคืนในวันเดียวกันนั้น กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกเอาเงินส่วนของผู้ประกันตนที่นายจ้างนำส่งเกินคืนภายในกำหนดหนึ่งปีตามนัยแห่งบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว เงินนั้นยังไม่ตกเป็นของกองทุนประกันสังคม จำเลยต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 1274/2549 ลงวันที่ 26 กันยายน 2549 และให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จกรณีชราภาพและคืนเงินสมทบที่ถูกหักไว้เกินจำนวนแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยและให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทน (บำเหน็จชราภาพ) 33,090 บาท และเงินสมทบส่วนที่เกิน 3,325 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2548 โจทก์ออกจากงานที่บริษัทมหาชัยร่วมใจพัฒนา จำกัด และสหกรณ์พัฒนาการประมงมหาชัย จำกัด โดยส่งเงินสมทบของโจทก์ระหว่างเดือนมีนาคม 2547 ถึงเดือนมีนาคม 2548 เกินจำนวน โจทก์มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพจำนวน 33,090 บาท และเงินสมทบเกินจำนวน 3,325 บาท โจทก์ยื่นคำขอรับเงินบำเหน็จชราภาพและขอรับคืนเงินสมทบที่หักไว้เกินเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2549 สำหรับเงินสมทบส่วนที่เกินนั้นเป็นกรณีที่บริษัทมหาชัยร่วมใจพัฒนา จำกัด กับสหกรณ์พัฒนาการประมงมหาชัย จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างของโจทก์เป็นผู้หักค่าจ้างของโจทก์นำส่งกองทุนประกันสังคมเป็นเรื่องระหว่างนายจ้างกับจำเลย ทั้งนายจ้างและโจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าโจทก์ส่งเงินสมทบเกินจำนวน จำเลยไม่เคยแจ้งให้นายจ้างหรือโจทก์ทราบ โจทก์เพิ่งทราบว่ามีสิทธิได้รับเงินสมทบส่วนที่เกินในวันที่โจทก์ยื่นคำขอรับเงินประโยชน์ทดแทน จึงยื่นคำขอรับเงินในส่วนนี้ด้วย แล้ววินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 56 วรรคหนึ่ง ไม่ใช่บทบัญญัติตัดสิทธิผู้ยื่นคำขอไว้โดยเด็ดขาด กรณีของโจทก์มีเหตุอันสมควรที่จะต้องยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพล่าช้า จำเลยจึงไม่อาจนำระยะเวลาที่โจทก์มิได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับประโยชน์ทดแทนมาตัดสิทธิของโจทก์ได้ ทั้งมาตรา 47 วรรคสี่ ก็มิใช่บทบัญญัติตัดสิทธิเด็ดขาด เมื่อโจทก์ไม่เคยทราบมาก่อนว่าโจทก์ส่งเงินสมทบเกิน และจำเลยไม่เคยแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์เพิ่งทราบว่ามีสิทธิได้รับคืนเงินสมทบที่ส่งไว้เกินในวันที่โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ กรณีมีเหตุอันสมควรที่โจทก์ต้องใช้สิทธิล่าช้า จึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ในการขอรับเงินคืน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่ให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยและจ่ายเงินสมทบส่วนที่เกินจำนวน 3,325 บาท ให้แก่โจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 47 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 กำหนดระยะเวลาให้ผู้ประกันตนเรียกเอาเงินสมทบที่นายจ้างส่งให้แก่สำนักงานประกันสังคมเกินจำนวนที่ต้องชำระคืนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นำส่งเงินสมทบหรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งให้มารับคืนนั้น เป็นกำหนดระยะเวลาเร่งรัดให้ผู้ประกันตนใช้สิทธิขอรับเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนที่นายจ้างเป็นผู้นำส่งให้แก่สำนักงานประกันสังคมเกินจำนวนที่ต้องชำระคืนโดยเร็ว ผู้ประกันตนจึงต้องได้ทราบว่านายจ้างนำส่งเงินสมทบดังกล่าวเกินจำนวนที่ต้องชำระด้วยหรือผู้ประกันตนต้องได้รับแจ้งให้มารับเงินนั้น เมื่อโจทก์ไม่เคยทราบมาก่อนว่านายจ้างนำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนเกินจำนวนที่ต้องชำระและจำเลยไม่เคยแจ้งให้โจทก์มารับเงินดังกล่าว แต่โจทก์เพิ่งทราบว่านายจ้างนำส่งเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนเกินจำนวนที่ต้องชำระในวันที่โจทก์มายื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ และโจทก์ได้ขอรับเงินสมทบที่นายจ้างนำส่งเกินดังกล่าวคืนในวันเดียวกันนั้น กรณีจึงต้องถือว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกเอาเงินส่วนของผู้ประกันตนที่นายจ้างนำส่งเกินคืนภายในกำหนดหนึ่งปีตามนัยแห่งบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว เงินนั้นยังไม่ตกเป็นของกองทุนประกันสังคม จำเลยต้องคืนเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share