แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญากู้ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ ผู้ให้กู้ย่อมมีสิทธิเรียกให้ผู้กู้ชำระหนี้เมื่อใดก็ได้ และการที่ผู้กู้นำพยานบุคคลมาสืบว่า การกู้รายนี้มีข้อตกลงกำหนดเวลาชำระหนี้คืน 3 เดือน ตามเช็คล่วงหน้าที่ผู้กู้ได้ออกให้ผู้ให้กู้ยึดถือไว้นั้น เป็นการนำสืบเพิ่มเติมข้อความในเอกสารสัญญากู้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
เอกสารหมาย ล.6 ที่โจทก์ผู้ให้กู้มีถึงจำเลยแจ้งกำหนดเวลาชำระหนี้ให้จำเลยทราบถือได้แต่เพียงเป็นหลักฐานที่โจทก์เรียกให้จำเลยชำระหนี้ภายในเวลาที่โจทก์กำหนดไว้เท่านั้นจะถือเป็นหลักฐานว่าโจทก์จำเลยตกลงกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนแล้วหาได้ไม่
เมื่อหนี้ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ การค้ำประกันก็มิใช่การค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลามีกำหนดแน่นอน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 700 แม้ผู้ให้กู้จะผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันก็หาหลุดพ้นความรับผิดไม่
โจทก์มิได้ฟ้องเรียกร้องเอาดอกเบี้ย แต่เมื่อฟังได้ว่าการกู้มีดอกเบี้ย ผู้กู้จึงต้องชำระดอกเบี้ยอยู่ และก่อนฟ้องโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยด้วยสิ่งของเป็นเงิน 8,725 บาท โจทก์จึงฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเฉพาะต้นเงินกู้ ดังนี้ การที่ศาลจัดใช้เงิน 8,725 บาท ที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ก่อนฟ้องเป็นใช้ดอกเบี้ยเสียก่อน ส่วนเหลือใช้เป็นการชำระต้นเงินกู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 329 แล้วพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระต้นเงินกู้ที่ยังค้างให้โจทก์น้อยกว่าที่โจทก์ขอนั้น ดังนี้หาเป็นการพิพากษาเกินคำขอไม่
สัญญากู้มีข้อความว่า จำเลยยอมให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่อัตราดอกเบี้ยมิได้กำหนดลงไว้จึงต้องใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ กู้เงินโจทก์ไป ๓๐,๐๐๐ บาท ไม่ได้กำหนดวันชำระ จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาให้ทนายโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชำระคืนภายในวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๐๘ จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ชำระ หากไม่ชำระก็ขอให้จำเลยที่ ๒ รับผิด
จำเลยทั้งสองให้การว่า ตกลงให้ดอกเบี้ยร้อยละสิบสลึงต่อเดือน มีกำหนดชำระคืน ๗ เดือน โดยจำเลยที่ ๑ ออกเช็คล่วงหน้า ๓ เดือน เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ให้โจทก์ยึดถือไว้ โจทก์จึงให้จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้และจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งหนังสือกู้ไม่ได้ลงวันที่และไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ โจทก์ผ่อนเวลาให้จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ไม่ยินยอมด้วย จำเลยที่ ๒ จึงหลุดพ้น โจทก์ยอมรับเอาสิ่งของแทนเงินคิดเป็นเงิน ๘,๗๒๕ บาท
ระหว่างสืบพยานจำเลย โจทก์รับว่าได้รับสินค้าจากจำเลยที่ ๑ รวม ๘,๗๒๕ บาท
ศาลชั้นต้นเห็นว่า เป็นการชำระดอกเบี้ยเสีย ๔,๕๐๐ บาท ชำระต้นเงิน ๔,๒๒๕ บาท พิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงิน ๒๕,๗๗๕ บาท หากจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ ๒ ชำระแทน
จำเลยที่ ๒ ผู้เดียวอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การกู้รายนี้ไม่กำหนดเวลาชำระหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้เสียเมื่อใดก็ได้ ที่จำเลยนำพยานบุคคลมาสืบว่า การกู้รายนี้มีข้อตกลงกำหนดเวลาชำระหนี้คืน ๓ เดือน ตามเช็คล่วงหน้าที่จำเลยที่ ๑ ได้ออกให้โจทก์ยึดถือไว้นั้นเป็นการนำสืบเพิ่มเติมข้อความในเอกสารสัญญากู้ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ เอกสารหมาย ล.๖ ที่โจทก์มีถึงจำเลยทั้งสองแจ้งกำหนดเวลาชำระหนี้ให้จำเลยทราบ ก็ถือได้แต่เพียงเป็นหลักฐานที่โจทก์เรียกให้จำเลยชำระหนี้ภายในเวลาที่โจทก์กำหนดไว้เท่านั้น จะถือเป็นหลักฐานว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนแล้วหาได้ไม่ เมื่อหนี้รายนี้ไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ การค้ำประกันของจำเลยที่ ๒ ก็มิใช่การค้ำประกันหนี้อันจะต้องชำระ ณ เวลามีกำหนดแน่นอน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๐๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉะนั้น แม้โจทก์จะผ่อนเวลาให้แก่จำเลยที่ ๑ ผู้เป็นลูกหนี้ จำเลยที่ ๒ ผู้ค้ำประกันก็หาหลุดพ้นความรับผิดไม่
คดีนี้ แม้โจทก์จะมิได้ฟ้องเรียกร้องเอาดอกเบี้ยก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การกู้รายนี้มีดอกเบี้ย จำเลยที่ ๑ ยังค้างชำระดอกเบี้ยสำหรับปี พ.ศ. ๒๕๐๗อยู่ และก่อนฟ้องโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยด้วยสิ่งของเป็นเงิน ๘,๗๒๕ บาทไปบ้างแล้ว โจทก์จึงฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเฉพาะต้นเงินกู้ ดังนี้ การที่ศาลล่างทั้งสองจัดใช้เงิน ๘,๗๒๕ บาทที่โจทก์ได้รับชำระหนี้ก่อนฟ้องเป็นใช้ดอกเบี้ยเสียก่อน ส่วนที่เหลือใช้เป็นการชำระหนี้ต้นเงินกู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๒๙ แล้วพิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ต้นเงินกู้ที่ยังค้างชำระให้โจทก์น้อยกว่าที่โจทก์ขอนั้น หาเป็นการพิพากษาเกินคำขอในฟ้องดังฎีกาจำเลยไม่
เนื่องจากหนังสือสัญญากู้รายนี้มีข้อความว่า จำเลยที่ ๑ ยอมให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ แต่อัตราดอกเบี้ยมิได้กำหนดลงไว้ในหนังสือสัญญากู้ว่าจำเลยและเสียให้โจทก์เท่าใด จึงต้องใช้อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๗ ฉะนั้น ในการจัดใช้เงิน ๘,๗๒๕ บาทที่จำเลยชำระให้โจทก์ในส่วนที่จะคำนวณเป็นการใช้ดอกเบี้ยจึงต้องใช้อัตรานี้เป็นหลัก หาใช่อัตราร้อยละ ๑.๒๕ ต่อเดือนหรือร้อยละ ๑๕ ต่อปี ซึ่งมิได้กำหนดไว้ในสัญญา และคิดแล้วเป็นเงินดอกเบี้ย ๔,๕๐๐ บาท ดังคำวินิจฉัยของศาลล่างทั้งสองไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ดอกเบี้ยที่จัดใช้ซึ่งคิดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี เป็นเงิน ๒,๒๕๐ บาท เงินที่โจทก์รับชำระยังเหลืออีก ๖,๔๗๕ บาท จัดใช้เป็นการชำระต้นเงินกู้ จำเลยที่ ๑ จึงต้องใช้ต้นเงินกู้ในส่วนที่ยังค้างชำระให้โจทก์อีก ๒๓,๕๒๕ บาท หนี้รายนี้เป็นหนี้ร่วมอันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ ๑ จะมิได้ฎีกา จำเลยที่ ๒ ผู้เดียวฎีกาจำเลยที่ ๑ ก็ย่อมได้รับผลเป็นคูณด้วย
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ ใช้เงิน ๒๓,๕๒๕ บาทให้โจทก์ หากจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระก็ให้จำเลยที่ ๒ ใช้แทนจนครบ นอกจากที่แก้นี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์