คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2511

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามให้การร่วมกันว่า ที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้จำเลยที่ 2, 3 ซึ่งเป็นบุตรจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำผิดข้อบังคับของห้างหุ้นส่วน เพราะจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ถอนเอาที่ดินคืนออกจากห้างหุ้นส่วนเลย โจทก์ก็ทราบแล้วและไม่คัดค้าน ดังนี้ ตามคำให้การของจำเลยทั้ง 3 เป็นการยอมรับว่าที่ดินนั้นยังคงเป็นของห้างหุ้นส่วนอยู่ แม้จะมีชื่อจำเลยที่ 2, 3 ถือกรรมสิทธิ์ จำเลยก็หาได้โต้เถียงไม่ว่าที่ดินนั้นเป็นของจำเลย ไม่ใช่ของห้างหุ้นส่วน จำเลยจะมาโต้เถียงภายหลังว่าที่ดินไม่ใช่ของห้างหุ้นส่วนย่อมไม่ได้
ที่ดินเป็นของห้างหุ้นส่วน เมื่อเลิกห้างหุ้นส่วนและมีการชำระบัญชีกัน ผู้ชำระบัญชีก็มีอำนาจที่จะขายทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนเอาเงินชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้
จำเลยให้การรับว่า ที่ดินยังเป็นของห้างหุ้นส่วนอยู่ เมื่อคู่ความตกลงกันให้ตั้งผู้ชำระบัญชี และให้ขายทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนทั้งหมดเพื่อนำเงินมาแบ่งกัน ดังนี้ แสดงว่าจำเลยตกลงยอมให้ขายที่ดินซึ่งเป็นของห้างหุ้นส่วนด้วย จำเลยมาอ้างภายหลังว่าขณะนั้นยังไม่ทราบว่าผู้ชำระบัญชีจะเอาที่ดินเป็นของห้างหุ้นส่วนด้วยหรือไม่ ย่อมฟังไม่ขึ้นและเมื่อจำเลยตกลงยอมให้ขายทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนทั้งหมดแล้ว ก็ถือได้ว่าจำเลยสละสิทธิที่จะถอนหุ้นเอาที่ดินของตนคืน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ ๑ กับผู้มีชื่อรวม ๑๔ คน เข้าหุ้นส่วนสามัญก่อสร้างโรงสีไฟ จำเลยที่ ๑ เอากรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๔๐๕๒ และ ๔๐๕๓ เข้าลงหุ้นตีราคา ๕,๐๐๐ บาท ต่อมาจำเลยที่ ๑ ลอบจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง ๒ โฉนด ให้จำเลยที่ ๒, ๓ ซึ่งเป็นบุตร ขอให้เพิกถอนการโอน ฯลฯ
จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ทำผิดข้อบังคับของห้างหุ้นส่วน ไม่ได้ถอนเอาที่ดินคืนออกจากหุ้นส่วน ขอให้ยกฟ้องและมีคำสั่งให้ห้างหุ้นส่วนเลิกกัน และจัดการชำระบัญชี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ และให้ห้างหุ้นส่วนเลิกกันตามฟ้องแย้งจำเลย ให้จัดการชำระบัญชี
คดีถึงที่สุดเพียงศาลชั้นต้นโดยมิได้มีฝ่ายใดอุทธรณ์ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ชำระบัญชี โดยจัดการขายทรัพย์สินของห้างเพื่อนำเงินมาแบ่งและเฉลี่ยกำไรขาดทุนกัน ผู้ชำระบัญชีเรียกโจทก์จำเลยมาประมูลระหว่างกัน แต่ไม่เป็นที่ตกลงจึงขออนุญาตศาลขายทอดตลาด จำเลยยื่นคำร้องว่า ที่ดินโฉนดที่ ๔๐๕๒, ๔๐๕๓ มีชื่อจำเลยที่ ๒, ๓ ถือกรรมสิทธิ์ ไม่ใช่ทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วน ขอให้งดการขายศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ดิน ๒ แปลงมีชื่อจำเลยที่ ๒, ๓ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต้องถือว่าจำเลยที่ ๒, ๓ เป็นเจ้าของ ไม่ใช่ของห้างหุ้นส่วน
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อโรงสีไฟของห้างหุ้นส่วนเลิกกิจการจะขายทรัพย์สินของห้าง จำเลยไม่ประสงค์จะขายที่ดิน ๒ แปลงนี้ก็ย่อมมีสิทธิขอถอนหุ้นเอาที่ดินของตนคืนได้ตามสัญญาเข้าหุ้นส่วนข้อ ๑๑ จะขายที่ดิน ๒ แปลงนี้ไม่ได้ พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้น ให้งดการขายทอดตลาด
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยทั้งสามยื่นคำให้การและฟ้องแย้งนั้น จำเลยทั้งสามให้การร่วมกันว่า ที่จำเลยที่ ๑ โอนที่ดินให้จำเลยที่ ๒, ๓ ซึ่งเป็นบุตรจำเลยที่ ๑ ไม่ได้ทำผิดข้อบังคับของหุ้นส่วนเพราะจำเลยที่ ๑ ยังไม่ได้ขอถอนเอาที่ดินคืนออกจากหุ้นส่วนเลย โจทก์ก็ทราบแล้วและไม่คัดค้าน ตามคำให้การของจำเลยทั้งสามดังกล่าวเป็นการยอมรับว่าที่ดินนั้นยังคงเป็นของหุ้นส่วนอยู่ แม้จะมีชื่อจำเลยที่ ๒, ๓ ถือกรรมสิทธิ์ จำเลยก็หาได้โต้เถียงว่าที่ดินนั้นเป็นของจำเลยไม่ใช่ของหุ้นส่วน ฉะนั้น จำเลยจะมาโต้เถียงในภายหลังว่าที่ดินนั้นไม่ใช่ของหุ้นส่วนจึงฟังไม่ขึ้น
เมื่อที่ดินทั้ง ๒ แปลงเป็นของห้างหุ้นส่วนแล้ว เมื่อเลิกห้างหุ้นส่วนและมีการชำระบัญชีกัน ผู้ชำระบัญชีก็มีอำนาจที่จะขายทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนเอาเงินชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้
เมื่อคู่ความตกลงกันให้ตั้งผู้ชำระบัญชีและให้ขายทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนทั้งหมดเพื่อนำเงินมาแบ่งกัน และจำเลยให้การรับว่าที่ดิน ๒ แปลงยังเป็นของห้างหุ้นส่วนอยู่ ดังนี้ แสดงว่าจำเลยตกลงยอมให้ขายที่ดินทั้ง ๒ แปลง ซึ่งเป็นของห้างหุ้นส่วนนี้ด้วย จำเลยจะอ้างภายหลังว่าขณะนั้นยังไม่ทราบว่าผู้ชำระบัญชีจะเอาที่ดินทั้ง ๒ แปลงนี้เป็นของห้างหุ้นส่วนด้วยหรือไม่ ย่อมฟังไม่ขึ้น และเมื่อจำเลยตกลงยอมให้ขายทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนทั้งหมดแล้ว ก็ถือได้ว่าจำเลยสละสิทธิที่ระบุไว้ในสัญญาข้อ ๑๑ ที่ว่า จำเลยมีสิทธิขอถอนหุ้นเอาที่ดินของตนคืนได้
พิพากษากลับ เป็นให้บังคับคดีตามคำสั่งของศาลชั้นต้น

Share