แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมอบให้ ส. เป็นตัวแทนทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์ แล้วจำเลยผิดสัญญาไม่จัดการโอนให้ ดังนี้ การที่ศาลวินิจฉัยว่า ส. เป็นตัวแทนเชิดของ จำเลยมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง เพราะตัวแทนกับตัวแทนเชิดก็มีความรับผิดในลักษณะอย่างเดียวกัน และที่มาตรา 798 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติถึงการตั้งตัวแทนว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือต้องทำเป็นหนังสือนั้น ใช้แก่กรณีที่มีการตั้งตัวแทนจริง ๆส่วนการเชิดบุคคลเป็นตัวแทนตามมาตรา 821 นั้น ใช้แก่กรณีที่มิได้มีการตั้งตัวแทนจริงตามกฎหมาย ดังนั้น การที่จำเลยเชิด ส. เป็นตัวแทนในการทำสัญญาจะขายที่ดินจึงนำมาตรา 798 มาบังคับไม่ได้
ส. ทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์โดยมิได้ระบุว่าทำในฐานะเป็นตัวแทนจำเลยดังนี้ โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่า ส. เป็นตัวแทนของจำเลยได้ หาใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมตัดทอนเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวไม่ เพราะสัญญาจะซื้อขายที่โจทก์และ ส. ได้ทำกันไว้ก็ยังคงผูกพันกันตามเอกสารดังกล่าว การนำสืบพยานบุคคลของโจทก์เป็นแต่เพียงการนำสืบความจริงว่าจำเลยเป็นตัวการของ ส.เพื่อให้จำเลยเข้ามารับผิดแทนส. เท่านั้น(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 820/2491)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ตกลงจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3661 อำเภอพระประแดงจังหวัดสมุทรปราการ ให้โจทก์ โจทก์วางเงินมัดจำไว้ 10,000 บาท จำเลยทำสัญญาว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ภายในเดือนธันวาคม 2512 ถ้าผิดสัญญายอมให้ปรับ 10,000 บาท ในการนี้ จำเลยได้มอบให้นายสุทิน กลับเจริญ เป็นตัวแทนทำสัญญาจะขาย ครั้นครบกำหนดตามสัญญาจำเลยกลับเพิกเฉย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา ขอให้บังคับจำเลยคืนเงินมัดจำและค่าปรับ รวม 20,000บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยตกลงจะขายที่ดินตามฟ้องและไม่เคยได้รับเงินค่ามัดจำ 10,000 บาทจากโจทก์ จำเลยไม่ได้มอบหมายให้นายสุทินเป็นตัวแทนในการทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์ ที่ดินตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของนายสุทินโจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายกับนายสุทิน การจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนในการจะซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จึงต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์จะอ้างว่านายสุทินเป็นตัวแทนของจำเลยไม่ได้ เพราะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยโดยความรู้เห็นเป็นใจกับนายสุทินจึงยอมให้นายสุทินทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกับโจทก์แทนจำเลย แม้การตั้งตัวแทนจะไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ แต่จำเลยได้เชิดนายสุทินเป็นตัวแทน จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 20,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาจะซื้อขายรายนี้โจทก์ผู้จะซื้อได้วางเงินมัดจำไว้กับผู้จะขายแล้ว ในกรณีเช่นนี้ไม่จำต้องมีหลักฐานในการจะซื้อจะขายเป็นหนังสือ ดังนั้นการตั้งตัวแทนจึงไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือก็ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้ ทั้งโจทก์มิได้นำสืบนอกฟ้อง พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาว่าคดีนี้ไม่มีประเด็นเรื่องตัวแทนเชิดนั้นเห็นว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า นายสุทินเป็นตัวแทนของจำเลยในการทำสัญญาจะซื้อขาย ฉะนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า นายสุทินเป็นตัวแทนเชิดของจำเลย จึงมิใช่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องแต่ประการใด เพราะตัวแทนกับตัวแทนเชิดก็มีความรับผิดในลักษณะอย่างเดียวกัน ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า การตั้งตัวแทนไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ต้องห้ามมิให้ฟ้องร้องนั้น เห็นว่า ที่มาตรา 798แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติถึงการตั้งตัวแทนว่าต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือต้องทำเป็นหนังสือนั้น ใช้แก่กรณีที่มีการตั้งตัวแทนจริง ๆ ส่วนการเชิดบุคคลเป็นตัวแทนตามมาตรา 821 นั้น ใช้แก่กรณีที่มิได้มีการแต่งตั้งตัวแทนจริงจังตามกฎหมาย ซึ่งในกรณีนี้จะนำมาตรา 798 มาบังคับไม่ได้
ที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้โจทก์จะนำสืบว่านายสุทินเป็นตัวแทนของจำเลยไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 นั้น เห็นว่าการที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่านายสุทินเป็นตัวแทนของจำเลย หาใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมตัดทอนเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาจะซื้อขายไม่ เพราะสัญญาจะซื้อขายที่โจทก์และนายสุทินได้ทำกันไว้ก็ยังคงผูกพันกันตามเอกสารดังกล่าว การนำสืบพยานบุคคลของโจทก์เป็นแต่เพียงการนำสืบความจริงว่าจำเลยเป็นตัวการของนายสุทินเพื่อให้จำเลยเข้ามารับผิดแทนนายสุทินเท่านั้น ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 820/2491
พิพากษายืน