แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ผู้เล่นพนันบิลเลียดเพื่อความรื่นเริงในสมาคม โดยสมาคมเก็บค่าเกมพอสมควรจะมิใช่สมาชิกของสมาคมก็ตาม ผู้เล่นก็ไม่มีความผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๐๔ เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๕ เวลากลางคืนก่อนเที่ยงติดต่อกัน จำเลยบังอาจสมคบกับพวกเล่นบิลเลียดพนันเอาทรัพย์สินกันที่สมาคมฌาปนกิจจังหวัดนครศรีธรมราช ซึ่งมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน เหตุเกิดที่สมาคมฌาปนกิจ จังหวัดนครศรีธรรมราช ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.๒๔๗๘ มาตรา ๔,๖,๑๐,๑๒,๑๕ พระราชบัญญัติการพนัน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๔๘๕ มาตรา ๓,๔ พระราชบัญญัติการพนัน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติการพนัน (ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๐๔ มาตรา ๓
จำเลยให้การว่า เป็นสมาชิกของสมาคมฌาปนกิจจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่เล่นบิลเลียดเอาทรัพย์สินกันจริง แต่เล่นภายในอาคารที่ตั้งของสมาคมและเล่นเพื่อความริ่นเริง โดยสมาคมเก็บค่าเกมตามสมควร มิได้เรียกเก็บหรือรับผลประโยชน์ในทางตรงหรือทางอ้อม จากการเล่นประการใด การเล่นของจำเลยไม่ผิดกฎหมาย เพราะได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.๒๔๗๘ มาตรา ๔ วรรค ๓ และกฎกระทรวงฉบับที่ ๑ พ.ศ.๒๕๐๓ ข้อ ๑๒ (๒) ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแขวงจังหวัดนครศรีธรรมราชฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมฌาปนกิจจังหวัดนครศรีธรรมราช เล่นบิลเลียดพนันเอาทรัพย์สินกันจนดึกดื่น ไม่เป็นเวล่ำ เวลา ผู้ที่เล่นกับจำเลยก็ไม่ใช่สมาชิกฌาปนกิจของสมาคม จึงมิใช่เล่นเพื่อการริ่นเริง จำเลยเป็นฝ่ายเล่นแพ้ เสียค่าเล่นเกมให้แก่สมาคม ๓ บาท ทั้งเสียค่าพนันให้แก่คู่เล่นที่ชนะอีก ๑ บาท นอกเหนือไปจากค่าเกมที่ต้องเสีย กรณีจึงไม่เข้าเกณฑ์ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ.๒๕๐๓) ข้อ ๑๓ (๒) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.๒๔๗๘ มาตรา ๔ วรรค ๓ แม้จะฟังว่าจำเลยเล่นเพื่อริ่นเริงก็หาเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยไม่ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ปรับ ๑๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ เล่นบิลเลียดในสมาคมเพื่อรื่นเริง แม้จะพนันก็ไม่ผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า แม้จำเลยจะพนันเอาเงินกัน แต่ค่าเกมที่เสียให้แก่สมาคมเพียง ๑ บาท นั้น นับว่าเป็นการเรียกเก็บพอสมควรแล้ว จำเลยไม่มีความผิด พิพากษากลับยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยเล่นบิลเลียดพนันเอาเงินกันที่สมาคมฌาปนกิจจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้จัดให้มีขึ้น โดยฝ่ายแพ้จะต้องเสียเงิน ๑ บาทให้แก่ผู้ชนะ นอกเหนือไปจากค่าเกม+เพียง ๑ บาท ที่ผู้แพ้จะต้องเสียให้แก่สมาคมเท่านั้น และจำเลยเป็นฝ่ายแพ้จึงเสียเงิน ๑ บาท ให้แก่ผู้ชนะก็พอดีตำรวจจับ การเล่นบิลเลียดนี้ก็ฟังได้ว่าเล่นกันเพื่อความสนุกรื่นเริง จึงมีปัญหาว่าจำเลยจะมีความผิดหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.๒๔๗๘ มาตรา ๔ วรรค ๓ นั้น บัญญัติไว้ว่า การเล่นบิลเลียดจะพนันกันได้ก็ต่อเมื่อมีใบอนุญาตหรือกฎกระทรวงอนุญาตให้จัดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต ซึ่งในเรื่องนี้ การเล่นบิลเลียดอันอยู่ในบัญชีหมายเลข ๒๓ ท้ายพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.๒๔๗๘ นั้นก็ได้มีกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ.๒๕๐๓) ข้อ ๑๓ ออกโดยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พ.ศ.๒๔๗๘ มาตรา ๔ ระบุไว้มีข้อความว่า “การพนันตามบัญชี ข. ดังต่อไปนี้ให้จัดขึ้นได้โดยไม่ต้องมีใบอนุญาต
(๑) ไพ่บริดซ์ซึ่งเล่นในสมาคมระหว่างสมาชิกหรือบุคคลที่สมาคมอนุญาตหรือ ฯลฯ โดยสมาคมผู้จัดให้มีการเล่น ฯลฯ แล้วแต่กรณี มิได้เรียกเก็บหรือรับผลประโยชน์ในทางตรงหรือทางอ้อมจากการเล่นนั้น
(๒) บิลเลียด เพื่อความรื่นเริงในสมาคม โดยสมาคมเก็บค่าเกมตามสมควร หรือในเคหะสถาน โดยผู้จัดให้มีการเล่นหรือเจ้าบ้านแล้วแต่กรณี มิได้เรียกเก็บหรือรับประโยชน์ในทางตรงหรือทางอ้อมจากการเล่นนั้น
(๓) ฯลฯ
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ.๒๕๐๓) ข้อ ๑๓ (๒) ที่กล่าวถึงการเล่นบิลเลียดเพื่อความรื่นเริงในสมาคมที่กล่าวข้างต้นนั้น มิได้ระบุไว้ว่าจะต้องเล่นในสมาคมเฉพาะแต่ในระหว่างสมาชิกด้วยกันหรือบุคคลที่สมาคมอนุญาตอย่างที่ได้บัญญัติระบุไว้ในกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ.๒๕๐๓) ข้อ ๑๓ (๑) เรื่องไพ่บริดซ์ ฉะนั้น จึงเห็นได้ว่าความมุ่งหมายของกฎกระทรวงข้อ ๑๓ (๒) เรื่องเล่นบิลเลียดในสมาคมเพื่อความรื่นเริงข้างต้นนั้น จึงไม่จำเป็นว่าผู้เล่นจะเป็นใคร จะเป็นสมาชิกของสมาคมนั้นหรือไม่ก็ตาม ก็เล่นพนันกันนอกเหนือไปจากค่าเกม ที่ต้องเสียให้แก่สมาคมตามสมควรได้ หาเป็นความผิดไม่ ฉะนั้น คดีนี้เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่า จำเลยเล่นบิลเลียดในสมาคมที่สมาคมจัดให้มีขึ้นและเล่นเพื่อความรื่นเริง ทั้งค่าเกมที่สมาคมเรียกเก็บจากจำเลยสำหรับเกมยาวเป็นเงินเพียง ๑ บาทเท่านั้น อันนับว่าเป็นค่าเกมที่เรียกเก็บพอสมควรแล้วเช่นนี้ แม้จะฟังว่าขณะนั้นจำเลยยังไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมนั้นก็ตาม จำเลยก็ไม่มีผิด เพราะถ้าความมุ่งหมายของกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ.๒๕๐๓) ข้อ ๑๓ (๒) ประสงค์จะเอาผิดแก่ผู้ที่มิใช่เป็นสมาชิกของสมาคมหรือแก่บุคคลที่สมาคมมิได้อนุญาตให้เข้าเล่นในกรณีเช่นนี้ด้วยแล้ว ก็จะต้องระบุไว้ดังกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ.๒๕๐๓ ) ข้อ ๑๓ (๑) เรื่องไพ่บริดซ์ เช่นเดียวกัน ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน