แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น ค่าเสียหายที่แท้จริงมีเท่าใด เป็นข้อเท็จจริงที่ต้องพิสูจน์ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำนวนค่าเสียหายจากเจ็ดร้อยบาทเศษเป็นสี่ร้อยบาทเศษจึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลเหตุที่ว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ไปและเอาโฉนดปลอมมาให้ยึดถือไว้เป็นประกัน ศาลได้พิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว ให้จำคุกจำเลย 5 ปี 4 เดือน และให้จำเลยใช้เงิน 1,140 บาท แก่โจทก์ด้วย จำเลยได้ชำระเงิน 1,140 บาทให้แก่โจทก์ในการบังคับคดีอาญานั้นแล้ว แต่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระดอกเบี้ยในต้นเงินนั้นคิดอัตราชั่งละ 10 บาทต่อปี 5 ปีเป็นเงิน 712 บาท 50 สตางค์กับค่าธรรมเนียมค่าทนายที่โจทก์ต้องเสียไปในคดีอาญาอีก 229 บาท 80 สตางค์ รวมเป็นเงิน 982 บาท 30 สตางค์
ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 732 บาท 30 สตางค์ แก่โจทก์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์มิได้นำสืบค่าเสียหาย มีถึงขนาดอัตราชั่งละ 1 บาทต่อเดือน ตามกำหนดอัตราดอกเบี้ยจึงคิดคำนวณเทียบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ให้ร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีจึงพิพากษาแก้ ให้จำเลยใช้เงินโจทก์เพียง 427 บาท 50 สตางค์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า กรณีนี้ไม่ใช่เป็นการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการผิดนัดผิดสัญญา หากเป็นการกำหนดค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด ค่าเสียหายที่แท้จริงมีเท่าใด จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องพิสูจน์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำนวนค่าเสียหายจากเจ็ดร้อยบาทเศษเป็นสี่ร้อยบาทเศษ เป็นการแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามฎีกาตามมาตรา 248 จึงให้ยกฎีกาของโจทก์เสีย