คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 112/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

กำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน เป็นกำหนดเวลาการฟ้องคดีถ้ามิได้ฟ้องภายในกำหนดย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ฉะนั้น แม้เป็นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 (2) แห่ง ป.รัษฎากรฯ แต่ก็ถือว่าเป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ใน ป.รัษฎากรฯ ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจขยายหรือย่นระยะเวลาดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23
คำสั่งกรมสรรพากร เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นเพียงระเบียบที่กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินถือปฏิบัติ ไม่มีผลผูกพันศาลให้ต้องถือตามระเบียบดังกล่าว ศาลมีอำนาจพิจารณาว่าการที่เจ้าพนักงานประเมินงดหรือลดเบี้ยปรับมานั้นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และมีอำนาจที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับได้เอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเข้งหงวน จำกัด บริษัทเข้งหงวน จำกัด ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท ผู้ชำระบัญชีได้ขายทรัพย์สินและรวบรวมรายได้ของบริษัทแล้วทำให้มีกำไรสะสมสิ้นปีก่อนจ่ายเงินปันผล 130,531,347.33 บาท จึงประกาศจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นทั้งสิ้นจำนวน 126,000,000 บาท โดยโจทก์ได้รับรวมทั้งสิ้น 1,156,400 บาท (ที่ถูก 11,516,400 บาท) บริษัทเข้งหงวน จำกัด ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 10 ในลักษณะของเงินปันผล ต่อมาโจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ว่า โจทก์มีเงินได้ต่าง ๆ รวมเงินปันผลซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ในปีภาษี 2542 และได้รับการเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงมีสิทธิขอคืนเงินภาษีที่ชำระไว้เกินเป็นเงินทั้งสิ้น 207,200 บาท และโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีจากจำเลย แต่เจ้าพนักงานของจำเลยเห็นว่าเงินได้ที่ผู้ชำระบัญชีแบ่งจ่ายให้แก่โจทก์เป็นผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุนเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร มิใช่เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร หรือประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์ไม่เห็นด้วย จึงยื่นอุทธรณ์การประเมิน เจ้าพนักงานของจำเลยได้มีหนังสือแจ้งส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์พร้อมทั้งแจ้งโจทก์ให้นำภาษีอากรค้างไปชำระตามผลคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์ได้นำเงินภาษีอากร เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตามใบแจ้งภาษีอากรและเงินเพิ่มที่คำนวณภายหลังตามการประเมินไปชำระแก่จำเลยไว้รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 1,444,013.83 บาท ครบถ้วนแล้ว แต่โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์ไม่ได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี กรณีตามฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเห็นไม่ตรงกันประกอบกับในชั้นตรวจสอบไต่สวนโจทก์ก็ได้ให้ความร่วมมือส่งเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงให้ถ้อยคำด้วยดีตลอดมา อีกทั้งโจทก์ได้นำเงินภาษีอากรและเงินเพิ่มตามการประเมินไปชำระไว้ก่อนแล้ว ขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) เลขที่ 11830010/1/102123 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2544 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.11 ภก/17/2546 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2546 เสียทั้งสิ้น และให้งดหรือลดเบี้ยปรับ
จำเลยให้การว่า เงินได้จำนวน 11,516,400 บาท ที่โจทก์ได้รับจากบริษัทเข้งหงวน จำกัด ซึ่งเลิกกิจการไปแล้วในปี 2540 โจทก์สำแดงเป็นเงินได้ประเภทเงินปันผลนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้จากการเลิกบริษัทการคืนทุนหรือผลประโยชน์จากการที่บริษัทเลิกกันซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าทุน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ยกอุทธรณ์โจทก์ แต่ให้ลดเบี้ยปรับลง คงเรียกเก็บร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมาย โจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2546 จึงเกินกำหนด 30 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลเพราะต้องห้ามตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องโจทก์ การที่โจทก์อ้างว่าได้ยื่นคำร้องเพื่อขยายระยะเวลาในการฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลางและศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายเวลายื่นคำฟ้องคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและผิดกฎหมาย ไม่อาจทำให้การฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ที่ได้ยื่นฟ้องเกินกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดนี้กลับกลายเป็นการฟ้องภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดได้ เนื่องจากกำหนดเวลาฟ้องคดีตามความในมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นกำหนดเวลาตามกฎหมายสารบัญญัติ มิใช่ระยะเวลาตามกฎหมายวิธีสบัญญัติหรือกฎหมายวิธีพิจารณาความ ในส่วนของเบี้ยปรับที่โจทก์ขอให้งดหรือลดตามคำขอท้ายฟ้องนั้น โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าเงินที่ได้รับมาไม่ใช่กำไรจากการประกอบกิจการ จึงไม่ใช่เงินปันผลตามกฎหมาย แต่โจทก์กลับยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอ้างเป็นเงินปันผลเพื่อขอรับเครดิตภาษี 3 ใน 7 ตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นเงินจำนวนมากเพื่อหวังจะได้รับเงินคืนจากรัฐโดยไม่ชอบ จึงไม่มีเหตุอันสมควรให้พิจารณางดเบี้ยปรับ การให้ความร่วมมือในการตรวจสอบของโจทก์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาลดเบี้ยปรับให้ร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนดเป็นคุณแก่โจทก์เป็นอย่างยิ่งแล้วเมื่อเทียบกับจำนวนภาษีที่โจทก์ชำระขาดเป็นจำนวนมากเช่นนี้ จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับลงมากกว่านี้อีก การประเมินของเจ้าพนักงานของจำเลยตลอดจนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงถูกต้องตามข้อเท็จจริงเหตุผลและกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ตกลงขอสละประเด็นว่าเงินที่โจทก์ได้รับจากบริษัทเข้งหงวน จำกัด เป็นเงินได้ประเภทใด
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) เลขที่ 11830010/1/102123 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2544 และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.11 ภก/17/2546 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2546 เฉพาะในส่วนเบี้ยปรับเป็นให้งดเบี้ยปรับทั้งหมด
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจขยายกำหนดเวลาในการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลให้โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลภาษีอากรกลางไม่มีอำนาจขยายกำหนดเวลาการอุทธรณ์โดยยื่นคำฟ้องคดีต่อศาลให้โจทก์ เพราะเกินกำหนดเวลาตามมาตรา 30 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นกำหนดเวลาในการฟ้องคดี ไม่ใช่ระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หรือระยะเวลาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ที่ศาลจะมีอำนาจขยายได้ เห็นว่า กำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน เป็นกำหนดเวลาการฟ้องคดี ถ้ามิได้ฟ้องภายในกำหนดย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง แม้เป็นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 (2) แห่งประมวลรัษฎากรก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจขยายหรือย่นระยะเวลาดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า กรณีของโจทก์มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับให้มากกว่าที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยหรือไม่ ข้อนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า การงดเบี้ยปรับจะต้องเป็นไปตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ทวิ วรรคสอง ประกอบด้วยคำสั่งกรมสรรพากร เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ข้อ 3 และ 4 ซึ่งกำหนดให้ลดเบี้ยปรับได้เฉพาะกรณีไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีและได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนด้วยดี และการลดเบี้ยปรับเมื่อลดแล้วต้องให้เสียไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และตามคำสั่งดังกล่าวไม่มีกรณีให้ลดเบี้ยปรับได้นั้น เห็นว่า คำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวเป็นเพียงระเบียบที่กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินถือปฏิบัติ ไม่มีผลผูกพันศาลให้ต้องถือตามระเบียบดังกล่าว ศาลมีอำนาจพิจารณาว่าการที่เจ้าพนักงานประเมินงดหรือลดเบี้ยปรับมานั้นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และมีอำนาจที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับได้เอง ในกรณีที่มีเหตุสมควรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอีกด้วย ตามคำฟ้องของโจทก์เห็นชัดเจนว่า บริษัทเข้งหงวน จำกัด จดทะเบียนเลิกบริษัทและอยู่ในระหว่างการชำระบัญชี โดยผู้ชำระบัญชีทำการขายทรัพย์สินและรวบรวมรายได้หลังจากหักรายจ่ายแล้วบริษัทมีกำไรสุทธิเมื่อหักผลขาดทุนสะสมยกมาจากปีก่อนแล้วบริษัทมีกำไรสะสมสิ้นปี จึงเห็นได้ชัดเจนว่า การที่บริษัทจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ถือไม่ได้ว่าเป็นเงินปันผล เพราะมิได้จ่ายตามหลักเกณฑ์ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1200 ถึง 1205 กำหนดไว้ และกรณีของโจทก์ไม่อาจถือได้ว่า เป็นการเข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อน ดังนั้น การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดเบี้ยปรับลงคงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายนั้นชอบแล้ว ไม่มีเหตุสมควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้มากกว่าที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share